เอสเปรสโซเย็น

เรื่องเอสเปรสโซเย็นนี้เคยคิดจะเขียนถึงนานแล้ว แต่ก็ยั้งมือไว้เพราะได้อ่านข้อเขียนของเพื่อนๆ หรือผู้อาวุโสบางท่านที่คอยอธิบายเป็นระยะคิดว่าให้ความเข้าใจได้พอสมควรแล้ว แต่ข้อถกเถียงเรื่องนี้ยังหาที่สุดไม่ได้และยังเป็นหัวข้อที่คุยสนุกทุกเมื่อเชื่อวัน หากคิดอยากจะกลับไปค้นคว้าหาอ่านทบทวนกลับล้มเหลว เพราะข้อเขียนเหล่านั้นกระจัดกระจายหายไปกับสายลมแล้ว

จึงอยากโน้ตแปะไว้เช่นเคยครับว่าความเห็นส่วนตัวเรื่องนี้ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร เท่าที่ทราบตำนานความเป็นมาของคำว่า “เอสเปรสโซเย็น” นั้นผมวิเคราะห์เอาเองจากที่ได้ยินได้ฟังมาว่าน่าจะมาจากที่คอกาแฟผู้รักการดื่มรุ่นเก๋าท่านเรียกขานไว้ ตั้งแต่ยุคที่เอสเปรสโซบุกเมืองไทยช่วงแรกราวสิบกว่าปีมาแล้ว ด้วยความที่ก่อนหน้านั้นคนไทยเคยชินกับกาแฟเย็นที่น้ำกาแฟชงด้วยการแช่ถุงในน้ำร้อนวิธีแบบนี้ไม่เคยโบราณมาก่อนทั้งที่คนไทยเชื้อสายจีนชงให้ดื่มมาจะเป็นร้อยปีแล้ว กระทั่งถึงยุคที่เอสเปรสโซบุก เครื่องเอสเปรสโซเริ่มจำหน่ายอย่างกว้างขวาง ถ้าใครจำได้ช่วงราวๆ ปี 2540 เครื่องชงกาแฟเอสเปรสโซแบบอัตโนมัติ(fully automatic) ถูกนำมาใช้ชงกาแฟคั่วขายกันตามซุ้มกาแฟใหญ่เล็กไปจนถึงร้านกาแฟสมัยใหม่ที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ก่อนที่จะพรึบเป็นดอกเห็ดอย่างทุกวันนี้

ปัญหาคือช่วงนั้นมันเป็นรอยต่อของวัฒนธรรมกาแฟแบบเดิมๆ ของเรา ที่คาเฟ่หมายถึงร้านกาแฟที่อยู่ตามชุมชน มุมถนน หรือซอยใกล้บ้าน เช้าๆ ชาวบ้านจะมารวมตัวกันซดโอยัวะ อ่านหนังสือพิมพ์แกล้มด้วยปาท่องโก๋ แล้วคุยกันถึงข่าวคราวที่เป็น talk of the town ในวันนั้น คนในชุมชนรู้จักมักคุ้นกันดี คาเฟ่แบบนี้บางท่านเลยเรียกสภากาแฟเพราะมีการอภิปรายกันอย่างเมามันด้วยเหตุเป็นที่รวมตัวของสมาชิกชุมชนในระแวกนั้น

สังคมเมืองพัฒนาขึ้น ชนชั้นกลางขยายตัว ประชากรในเมืองเพิ่มขึ้น สังคมเลยซับซ้อนขึ้นและคนเริ่มห่างเหินกัน กลายมาเป็นต่างคนต่างอยู่ การจับกลุ่มของชุมชนที่พักอาศัยใกล้เคียงกันค่อยๆ น้อยลง กลายเป็นการจับกลุ่มทางสังคมแทน  วิถีชีวิตแบบใหม่ก็ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้น วัฒนธรรมคาเฟ่สมัยใหม่กลายมาเป็นสิ่งรองรับให้กับสังคมเมืองที่ซับซ้อนขึ้นนี้ และปรากฏการณ์การหลั่งไหลเข้ามาของเครื่องเอสเปรสโซในเมืองไทยก็เริ่มขึ้นพร้อมกับวัฒนธรรมคาเฟ่สมัยใหม่นี้เอง

เอาล่ะสิครับ ของเก่าก็ยังไม่สาปสูญ ของใหม่ก็เริ่มเข้ามา ปัญหาจึงตกอยู่ที่ผู้บริโภคเวลาที่จะสือสารกันนั้นทำอย่างไรจะให้เข้าใจว่ากาแฟที่เขาต้องการนั้นมันชงแบบไหน คราวนี้กาแฟแบบที่ชงมาดั้งเดิมเลยกลายเป็นกาแฟโบราณ กาแฟแบบใหม่เราก็มีคำว่า “เอสเปรสโซ” ให้ใช้ จะบอกว่าถูกผิดแบบแผนอย่างไรก็ไม่ทราบได้เพราะไม่ได้มีใครมาบัญญัติให้  เรียกว่าผู้บริโภค(หรืออาจจะด้วยความร่วมมือกับผู้ขาย) ช่วยแก้ปัญหากันเองแบบลูกทุ่งๆ ให้สื่อสารกันเข้าใจ เพื่อที่ตนเองจะได้สิ่งที่ต้องการ

เคยดื่มกาแฟเย็น (จากวิธีที่เพิ่งจะโบราณ)

อยากดื่มกาแฟเย็นเหมือนเดิม แต่จากการชงแบบใหม่ มันหอมกว่าเข้มข้นกว่า เพราะใช้กาแฟคั่วแท้ๆ และใช้เครื่องชง จะเรียกยังไงดี เพราะถ้าบอกกาแฟเย็นอาจจะได้กาแฟจากวิธีที่เพิ่งจะโบราณ งั้นเรียก “เอสเปรสโซเย็น” เข้าใจมั๊ย

จบครับ ทุกคนแฮบปี้ คนดื่มแฮปปี้ คนขายแฮปปี้ ต่างคนต่างได้สิ่งที่ตนเองต้องการ

แล้วยังจะมีปัญหาอะไรอีก

ความเป็นจริงก็คือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บนความเจริญงอกงามของวัฒนธรรมคาเฟ่สมัยใหม่ มีกลุ่มคนที่มุ่งมั่นศึกษาหาความรู้ จริงจังกับงานที่ทำ และต้องการให้ทุกอย่างถูกต้องตามแบบแผนประเพณี คนกลุ่มนี้ไม่แฮปปี้ด้วย เพราะเมื่อย้อนกลับมาพิจารณาคำว่า “เอสเปรสโซเย็น” ข้อถกเถียงสนุกๆ จึงเกิดขึ้น บ้างก็ว่าเมนูนี้มันไม่มีในโลกหรอก บ้างก็ว่ามีแต่ไม่ใช่อย่างที่เห็น มันไม่ควรจะใส่นมข้น และมีรสชาติหวานมันอย่างนั้น นั่นมันไร้รสนิยม และเป็นการเหยียบย่ำประเพณีอันดีที่ควรรักษาไว้ พร้อมกับน้ำเสียงเหยียดๆ ว่านี่มัน “ไทยแลนด์โอนลี่” อีกแล้ว

เรื่องนี้ผมเคยเทียบเคียงให้นักเรียนกาแฟในชั้นเรียนฟังบ่อยๆ ว่าบางทีรู้สึกเหมือนคุยกันเรื่องผี ตกลงผีมีจริงหรือไม่ ถ้ามีหน้าตามันเป็นอย่างไร ผีของผมกับผีของคุณหน้าตามันเหมือนกันมั๊ย คุยกันเรื่องนี้ไม่เห็นจะได้ข้อสรุปซักครั้งแต่ก็สนุกทุกครั้ง

ต่อเมื่อถูกคาดคั้นเอามากๆ ในฐานะที่มายืนสอนเขา ผมจึงต้องเอาตัวรอดด้วยการอ้างอิงจากบุคคลที่น่าเชื่อถือ ในชั้นเรียนกาแฟหากพูดถึงตำรับกาแฟที่เป็นสากล ผมมักจะอ้างอิงข้อเขียนของนักเขียนชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงคือ Mr.Kenneth Davids นักชิมกาแฟระดับกูรู ผู้เขียนหนังสือชื่อ Coffee: A Guide to Buying, Brewing, and Enjoying โดยเมื่อกล่าวถึงเมนูกาแฟที่ชื่อ Iced Espresso ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับภาษาไทยว่าเอสเปรสโซเย็นที่สุดแล้ว เคน เดวิดบอกว่าเมนูนี้เท่าที่เขาทำการสืบเสาะและวิจัยมา(ด้วยวิธีใดนั้นสุดจะคาดเดา) ทำด้วยการสกัดเอสเปรสโซ 2 ช็อต ใส่น้ำตาลซักหน่อยเอาไปแช่เย็น เวลาเสิร์ฟให้ราดลงบนน้ำแข็งบดในแก้วแฟนซี แล้วท้อปปิ้งด้วยวิปครีมเล็กน้อย ถ้าเชื่อผม เชื่อเคน เดวิด เรื่องเอสเปรสโซเย็นก็ได้ข้อยุติแบบนี้ เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลตามสมควรไม่ขัดแย้งกับแบบแผนในรายการเครื่องดื่มร้อนใดๆ

แต่มันไม่จบง่ายๆ หรอกครับ สำหรับคนที่เดินทางมาทั่วโลก (คือเขาคิดว่าเขาไปมาทั่วแล้วแต่ก็ไม่รู้ไปที่ไหนมาบ้าง) แล้วไม่เคยพบว่าคาเฟ่ที่ไหนขาย Iced Espresso เลย ก็จะบอกว่าผม หรือเคน เดวิดนี่มั่วแล้ว Iced Espresso มันไม่มีหรอกบนโลกใบนี้ อันนี้ก็เป็นไปได้ครับ เพราะพี่เค้าไม่เคยเจอเลย จะให้เขาเชื่อว่ามีได้อย่างไร (แต่คนที่ไม่เคยเจอผี ยังเชื่อว่าผีมีจริงมีอยู่ไม่น้อย) และถ้าว่าไม่มีผมก็ว่าไม่น่าแปลกเพราะฟังจากที่เคน เดวิดพูด มันน่าจะยุ่งยากในการทำ และอาจจะไม่มีใครดื่ม ก็เลยไม่ค่อยมีใครขาย ไม่เจอถือว่าไม่แปลก

เอ้า ! ไม่มีก็ไม่มี

คราวนี้แฟนๆ กาแฟที่ติดสั่งเอสเปรสโซเย็นดื่มตลอดสิบกว่าปีนี้มาถึงร้านเรา แล้วจะทำยังไง ?

ที่ซีททูคัพเราไม่ยากครับ ถ้าพนักงานชงไม่แน่ใจอาจจะถามไถ่ให้พอรู้ว่าท่านต้องการอะไรแน่ แต่เกือบร้อยทั้งร้อยกับอีกสองคน เมื่อสั่ง “เอสเปรสโซเย็น” เราก็ทำกาแฟเย็นสูตรที่มีส่วนผสมของนมข้นซึ่งเราเรียกของเราเองว่า “กาแฟเย็น” ให้ไป ไม่เคยมีปัญหาครับ

เราไม่ได้ขึ้นป้ายเมนูว่า “เอสเปรสโซเย็น” แต่ถ้าเข้าใจแล้วว่าลูกค้าต้องการอะไร ก็เปล่าประโยชน์ที่จะยกให้มันกลายเป็นข้อถกเถียงซึ่งอาจทำให้ใครเสียหน้าหรือเสียใจ เราตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ นั่นถือเป็นความสำเร็จแล้ว

ความเห็นส่วนตัวของผมคือประเพณีกาแฟที่ค่อนข้างเคร่งครัดน่าจะเป็นรายการเครื่องดื่มร้อน ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมกาแฟสมัยใหม่ที่เราเห็นทุกวันนี้งอกงามมาจากชาติตะวันตกซึ่งนิยมดื่มกาแฟร้อนมากกว่า ในขณะที่ประเพณีรายการเครื่องดื่มเย็นนั้นเราเทียบเคียงมาจากเครื่องดื่มร้อนอีกทีหนึ่ง เช่นถ้าลาเต้ร้อนหมายถึงเอสเปรสโซกับนมสดเยอะๆ ลาเต้เย็นก็หมายถึงเอสเปรสโซกับนมสดเยอะๆ เช่นกัน ใครหยอดนมข้นเข้าไปเราถือว่าผิดประเพณี แต่หากจะทำหรือดัดแปลงอย่างไรก็ไม่ถึงกับผิดขั้นฟ้าถล่มแผ่นดินทลาย หรือทำให้วัฒนธรรมกาแฟโลกต้องล่มสลายอย่างไร ดังจะเห็นว่าเชนกาแฟที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกยังมีการผสมโน่นนี่เข้าไป เสกสรรค์เติมแต่งชื่อให้พิศดารจนเกือบลืมไปว่านั่นเป็นชื่อเครื่องดื่ม กลับกลายเป็นการเพิ่มอัตราการบริโภคกาแฟของชาวโลกให้สูงอย่างไม่น่าเชื่อ

ความคิดที่แว่บเข้ามาในหัวผมคือ ครั้งหนึ่งเราก็ไม่เคยมีคำว่า “คาปูชิโน่” หรือ “กาแฟลาเต้” ในโลกใบนี้มาก่อนเหมือนกัน

ถ้าเราจะบัญญัติคำว่า “เอสเปรสโซเย็น” เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “espresso yen” ซึ่งหมายถึงเอาเอสเปรสโซมาผสมกับนมข้นแล้วราดบนน้ำแข็ง พบที่ประเทศไทยเป็นที่แรก อย่างนี้จะผิดอะไรมากมั๊ย

ครั้งหนึ่งคำว่า จ๊าบ แหล่ม แจ่มแมว ศัพท์มันๆ ที่วัยรุ่นชอบใช้มันไม่มีในพจนานุกรมหรอกครับ คำพวกนี้ถือเป็นคำเถื่อน จนกระทั่งคำไหนที่ราชบัณฑิตยสถานยอมรับนั่นแหละจึงจะกลายสภาพเป็นคำไทยคำหนึ่งอย่างถูกต้อง เรื่องของกาแฟก็คล้ายกัน ผิดแต่ว่าประเทศเรามันยังไม่มีสถาบันกาแฟไหนที่จะมาคอยรับรองสิ่งต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน

โอเค ถ้าท่านเป็น purist หรือค่อนข้างอนุรักษ์นิยม หากไม่สบายใจที่ต้องทำอะไรแบบนั้นก็ไม่ต้องทำ แต่ก็อย่าถึงกับหงุดหงิดเมื่อเห็นคนอื่นทำ หรือถึงกับต้องไปทำร้ายความรู้สึกใคร เพราะมันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร มันมีที่มาที่ไป ที่พอจะเข้าใจได้

เรื่องกาแฟเป็นเรื่อง ไลฟ์สไตล์ ซึ่งมันมีหลายสไตล์ แต่ละสไตล์จะสนองกับตัวตนของคนๆ นั้น มันจะไม่เหมือนกันไปทั้งหมด ขอแค่เราทำความเข้าใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่างนี้เราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขครับ

You can leave a response, or trackback from your own site.

13 Responses to “เอสเปรสโซเย็น”

  1. Patongko01 says:

    จริงๆ แม้แต่ร้านกาแฟชื่อดังๆ สั่งเมนูนี้ก็เป็นที่รู้กันทั้งนั้น
    เพราะทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีใครบัญญัติศัพย์ขึ้นมาใช้สากลเท่าไร
    บทความดีมากเลยครับ ขอบคุณครับสำหรับบทความ

  2. Teddy Coffee says:

    ผมขอแชร์ประสบการณ์นะครับ คุณวุฒิ
    ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยผมเปิดร้านกาแฟใหม่ๆ (ไฟแรง) มีลูกค้าท่านหนึ่งมาสั่งกาแฟที่ร้านผม ลูกค้าคนนั้นมีอายุและมีฐานะพอสมควร เข้ามาสั่งเอสเปรสโซเย็นกับผม ผมตอบว่าไม่มี แกเลยถามว่าร้านเล็กๆอย่างผมทำไมไม่มีเอสเปรสโซเย็น ร้านอื่นๆที่ใหญ่ๆยังมีเลย ผมเลยถามกลับไปว่า ร้านที่ว่าใหญ่ มีร้านไหนบ้าง เขาก็อ้างมาหลายร้าน ผมเลยย้อนถามว่าถ้าร้านใหญ่จริง สตาร์บั๊กมีไหมครับ เอสเปรสโซเย็น
    ลูกค้าท่านนั้น เสียหน้า เดินออกจากร้านผมและไม่เคยเข้ามาเยียบที่ร้านผมอีกเลย
    วันนั้น ผมสะใจเป็นบ้า ที่ข่มเขาได้
    แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ทำให้ผมคิดได้ว่าผมทำผิด ผิดตรงที่ไม่ทำหน้าที่ของบาริสต้าได้อย่างสมบูรณ์ เพราะลูกค้าไม่ผิด ไม่ผิดเพราะไม่รู้ บาริสต้าตั้งหากที่รู้ว่า จริงๆแล้วลูกค้าเขาต้องการอะไร แต่เราลำพองคิดว่า กูเก่ง กูรู้
    แต่สิ่งที่ไม่รู้คือ ไม่เข้าใจในวัฒนธรรมกาแฟเมืองไทย
    ผมจึงพยายามบอกน้องๆรุ่นใหม่ว่า ไม่ใช่เป็นความผิดของลูกค้า เพราะเมื่อก่อนที่คุณยังไม่รู้จักEspresso ยังไม่ได้เรียนกาแฟ คุณก็สั่งเมนูนี้เช่นกัน เพียงแค่คุณมองลงไปที่ความต้องการของลูกค้า คุณก็จะทำได้
    ผมคิดและวิเคราะห์ได้คล้ายๆของคุณวุฒิเลยครับ
    เพราะคนไทยเราโตมาจากวัฒนธรรมกาแฟโบราณและกาแฟสำเร็จรูป รสชาติของกาแฟเย็นที่ถูกปากคนไทยมากที่สุด ก็คือรสชาติของกาแฟเย็นโบราณ แต่วันเวลาผ่านไป ร้านกาแฟรูปแบบใหม่เกิดขึ้น แล้วเราจะสั่งอะไร โอเลี้ยง โอยั๊วก็ไม่มี รู้แต่ว่า เอสเปรสโซคือกาแฟที่ิเข้มที่สุด มันมีร้อนได้ มันก็คงมีเย็นได้เช่นกัน และลูกค้าคือพระเจ้า ลูกค้าอยากได้ก็ต้องมี จึงเกิดการทำกาแฟเอสเปรสโซใส่นมข้นหวาน แบบเดียวกันกับการชงกาแฟเย็นโบราณเลย
    ที่ร้านผมก็ไม่มีเมนูเอสเปรสโซเย็นเช่นกัน แต่ก็เป็นอะไรที่ลูกค้าสั่งมากที่สุดเช่นกัน ผมก็ออกแบบกาแฟเย็นของผมให้มีลักษณะแบบกาแฟเย็นโบราณ ลูกค้าก็แฮปปี้ทุกคน แต่เวลาผมเสิร์ฟ ผมก็ไม่เคยบอกเลยว่า เอสเปรสโซเย็นได้แล้ว แต่จะบอกว่ากาแฟเย็นได้แล้วครับ
    ซึ่งหากลูกค้าท่านไหนสงสัย ผมจึงค่อยอธิบายว่าอะไรคืออะไร แต่ถ้าลูกค้าไม่ถามก็ไม่ต้องบอกเขาก็ได้ เพราะคนเราส่วนใหญ่ไม่ชอบให้ถูก(สิ่ง)สอนครับ หรือในคลาสสอนกาแฟผมก็ต้องสอนเรื่องนี้ด้วย และจะดูไปถึงว่าร้านนั้นๆเปิดที่ไหน ลูกค้าของเขาเป็นแบบใด หากจับตลาดล่างถึงกลาง ก็อาจจะต้องมีเมนูนี้ แต่อย่างน้อยก็ให้ความรู้ ผู้ที่ทำร้านกาแฟได้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แล้วค่อยปรับเอา ตามลักษณะของกลุ่มลูกค้า
    ผมจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรม ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะทำได้โดยไม่ต้องฝืนใจทำ หรือฝืนใจที่จะยอมรับว่ามัน(เอสเปรสโซเย็น) มี ^_^

  3. 9-1coffee says:

    ผมแอบเป็นแฟนคุณวุติมานานแล้วแต่ไม่เคยได้แสดงความเห็นเลยเพราะไม่ค่อยชอบอยู่หน้าคอม เป็นคนขี้เกียจเขียนด้วย แต่ครั้งนี้ขอสนับสนุนคุณวุติแบบเปิดเผย ที่จริงแล้วเมนูกาแฟทั้งร้อนทั้งเย็นหรือนิยามคำต่างๆล้วนถูกสร้างขึ้นมาทั้งนั้นเพื่อให้สื่อสารกันเข้าใจตรงกัน สำหรับคำนิยามของกาแฟส่วนใหญ่ก็ถูกกำหนดขึ้นตามแหล่งต่างของโลกใบนี้และหลายช่วงเวลาที่กาแฟได้รับความนิยม…. กลับมาที่เอสเปสโซเย็น ถ้าเราจะย่อมให้มันเกิดในเมืองไทยแล้วขยายไปทั่วโลกเหมือนต้มยำกุ้ง ผัดไทย หรือ papaya salad (ขอโทษอาจเขียนผิด)มันก็เท่เหมือนกัน สำหรับผมแล้วไม่แปลกเลยกับคำนี้ แอบภูมิใจด้วยซำ้ถ้าคนไทยจะเป็นผ็ูริเริ่มกับเขาบ้างเหมือน flat white (นี่ก็อาจผิด)ที่ชาวออสซี่สร้างขึ้นมาที่หลัง หลายร้านในเมืองไทยก็มีเมนูนี้ ….สำหรับร้าน 9-1coffee ก็ให้บริการ เอสเปสโซเย็นมาตลอด แต่ไม่ได้ขึ้นเมนูเท่านั้นเอง

  4. admin says:

    ขอบคุณทั้งสามท่านครับ

    อันที่จริงเมนูกาแฟเย็นไทยเราอยู่ในตำรับกาแฟโลกมานานแล้วนะครับทั้งๆ ที่กาแฟสไตล์นี้ก็มีดื่มกันในประเทศเพื่อนบ้านเราด้วย(เหมือนส้มตำที่ในลาวก็มีกินกัน) สุดแต่ว่านักเขียนคนไหนจะอ้างถึงบ้าง แต่ในตำรับดั้งเดิมนั้นจะพูดถึงการใช้กาแฟต้มแก่ๆ เนื่องจากเมื่อก่อนเรายังไม่มีเอสเปรสโซ คนไทยยังไม่รู้จักการชงด้วยเอสเปรสโซ

    มาบัดนี้เราชงเอสเปรสโซเป็นแล้ว และใช้กาแฟแท้ๆ 100% ผมว่ารสชาติมันดีขึ้นเยอะเลย การ claim ใช้คำว่าเอสเปรสโซเย็นน่าจะพอมีน้ำหนักอยู่พอสมควร ยิ่งถ้าเราใช้ได้ก่อนที่ ลาว เขมร เวียตนามจะเริ่มคุ้นกับเอสเปรสโซมากขึ้น โลกอาจจะรู้จักกาแฟสไตล์นี้ผ่่านเราก่อนก็ได้ครับ

  5. ชอบเลย…ครึ่งแรกอ่านแล้วดูนุ่มๆครับ ครึ่งหลังมันดีโดนใจ
    ผมว่าเรื่องนี้มันไม่ซับซ้อนอย่างที่พี่ว่านั่นแหละครับ
    และประหลาดใจมากที่เห็น 9-1coffee มาทิ้งคอมเม้นท์ไว้ที่นี่….เพราะผมไม่เคยเจอเจ้าของยูสเซอร์เนมนี้ในโลกไซเบอร์เลยอ่ะครับ เจอกันทุกครั้งเราจะไปนั่งกินกาแฟใหเแมงคุ่นกัดอยู่ในป่า…ฮ่ะๆๆๆๆ
    ติดตามและแอบชื่นชมพี่วุฒินะครับผม

  6. admin says:

    ขอบคุณครับ :)

  7. roastniyom coffee says:

    ชอบบทความนี้ครับ คุณวุฒิเขียนด้วยมุมมองที่..กว้าง.. ดีครับ

  8. mania says:

    Thank

  9. น้ำ says:

    ชอบบทความนี้มากค่ะ เป็นคนกินกาแฟแต่ยังไม่ได้เป็นคอกาแฟแบบใครๆ โดนประจำเวลาไปร้านกาแฟแล้วมักสับสน บางร้านมันมี Iced Espresso บางร้านไม่มี บางร้านมี Iced Capuchino บางร้านไม่มี สั่งกาแฟผิดก็จะโดนคนชงกาแฟทำหน้าเซ็งแนวลูกค้าโง่มาสั่งกาแฟ แล้วบอกว่าไม่มี ดดยเฉพาะพวกร้านชื่อดังหลายสาขาทั้งหลาย …. จริงๆแล้วบาริสต้าเป็นคนที่สร้างรอยยิ้มให้ลูกค้านะคะ ดีใจที่เจอเจ้าของร้านที่เป็นบาริสต้าตัวจริงค่ะ

  10. ไม่ทราบว่าที่ต่างประเทศจะมีเมนู Iced Espresso หรือไม่ แต่ที่เมืองไทยเรามีแน่ๆครับ ก็ เอสเพรสโซ่ร้อนมี ทำไม่ เอสเพรสโซ่เย็นจะไม่มี บ้า่นเมืองเราเป็นเมืองอากาศร้อนก็ต้องทานเย็นเพื่อคลายร้อน ชาวบ้านเขาเข้าใจว่าเอสเพรสโซ่คือกาแฟเข้มข้น เวาลาเขาสั่งเมนูเอสเพรสโซ่เย็นก็หมายความถึง กาแฟเย็นเข้มข้นนั้นแหละครับ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเมนูเอสเพรสโซ่เย็นยังไม่แพร่หลายมีลูกค้ามาสั่ง เอสเพรสโซ่เย็น เมนูนี้ไม่มีในตำราฝรั่ง ก็เลยมีความคิดว่าในเมื่อคาปูชิโน่เย็นยังทำได้ เอสเพรสโซ่เย็นก็ต้องทำได้สิ เลยทำเอสเพรสโซ่เย็นแบบโอเลี้ยงเข้มๆให้ ก็ โอเคนะ อ้าวมันดันไปชนกับเมนูอเมริกาโน่ให้ ก็เลยอ้อมแอ่มตอบลูกค้าไปว่าเอสเพรสเย็นจะเข้มกว่าอเมริกาโนเย็นครับ โถ!ก็ โอเลี้ยงบ้านเราดีๆนี้แหละแต่ทำจากเมล็ดกาแฟคั่วชงด้วยเครื่องเอสเพรสโซ่ ประเด็นเอสเพรสโซ่เย็นใส่นมหรือไม่เถียงกันรุนแรงในเวปต่างๆ ตอนนี้มาจบที่คนทานครับ ถามลูกค้าทุกครั้งที่สั้งเมนูเอสเพรศโซ่เย็นได้คำตอบว่าใส่นมครับ ก็เลยได้คำตอบว่าเมนูเอสเพรสโซ่เย็นก็คือ กาแฟเย็นเข้มข้นหวานน้อยครับ แฮะๆๆ

  11. ขอบคุณครับ says:

    ชอบบทความลงท้ายที่คุณเขียนมาก ผมเคยมีประสพการณ์ที่ไม่ค่อยประทับใจกับร้านกาแฟทางภาคเหนือที่มีร้านกาแฟชื่อดังๆ
    เคยได้ยินถึงกับพูดดูถูกลูกค้าว่าโง่ที่สั่งกาแฟเอสเพลสโซ่เย็นกับคาปูชิโน่เย็น หรือไม่ก็โง่ที่กินเอสเพลสโซ่ร้อนแล้วกินน้ำเปล่าตาม

  12. Chok Rujirawat says:

    จริงๆจะว่าไปสำหรับ”เอสเพรสโซ่เย็น” เป็นเมนูที่มันทำให้ผมมีค่าเทอมลูกเลยนะครับ 555

  13. Meechai T. says:

    ชื่อนั้นสำคัญไฉน ถ้าตราบใดลูกค้าถูกใจจากกาแฟที่คุณชงให้(คงไม่มีลูกค้าคนใดกลับมาอีกถ้าหากว่าเขาไม่ประทับใจกับรสชาติและการบริการแม้จะได้รับประสบการณ์การบริการระดับใดก็ตาม)ก่อนจะมีชื่อเรียกเหล่านี้ก็เริ่มจากการไม่มีก่อนไม่ใช่หรือครับ

Leave a Reply

Powered by WordPress | Designed by: Premium Themes | Best Themes Gallery, Find Free WordPress Themes and Top WordPress Themes