การเปรียบโลกกาแฟดั่งโลกของดนตรี เป็นเรื่องน่าสนใจเสมอ ผมจำภาพยนต์เรื่องหนึ่งได้ลางๆ เป็นเรื่องของครูสอนดนตรีคลาสสิคกับนักเรียนของเขาที่กำลังเรียนรู้อะไรบางอย่าง เรื่องราวในภาพยนต์เป็นอย่างไรนั้นจำไม่ได้แล้วครับแต่ประเด็นที่ติดใจคือมีตอนหนึ่งคุณครูพูดถึงเพลงร็อคแอนด์โรลซึ่งในทัศนะของนักเรียนดนตรีคลาสสิคบางคนไม่คิดว่านั่นคือดนตรีด้วยซ้ำ บางเพลงมีแค่ 3 คอร์ดวนไปเวียนมาแต่ทำไมมันทำให้คนฟังสนุกไปกับมันได้ คุณครูย้ำให้นักเรียนตระหนักว่าคนฟังดนตรีที่แท้เขาฟังเพราะว่ามันสนุก เพลงแม้มีแค่ 3 คอร์ดแต่ถ้าออกมาจากอารมณ์จริงๆ มีความรู้สึกอยู่ในนั้นย่อมทำให้คนฟังเกิดความรู้สึกตามไปด้วยได้ กลับกันหากบรรเลงเพลงที่มีความซับซ้อนเปี่ยมไปด้วยเทคนิคที่แพรวพราวแต่ขาดอารมณ์ความรู้สึกก็อาจทำให้คนฟังไม่มีอารมณ์ร่วม ไม่สนุก ไม่อยากฟังต่อไปอีกก็ได้
นึกถึงเรื่องนี้กับภาพของวงการกาแฟสมัยใหม่โดยเฉพาะในเมืองไทยเรา ผมคิดว่ามันหมุนมาในจุดที่เดี๋ยวนี้เราชั่งน้ำหนักน้ำกาแฟ วัดค่า tds หา extraction yield กัน มีการใช้กาแฟสารพัดแหล่งทั่วโลก เครื่องชงกาแฟแพงๆ แบบไหนๆ เรามีหมด ถือว่ามาไกลมากแล้ว แต่ที่น่าคิดคือกาแฟที่ทำออกมานั้นเราสามารถทำให้ผู้ดื่มทั่วไปซาบซึ้งได้แค่ไหน
เราจะเล่นเพลงคลาสสิคหรือจะเลือกเล่นเพลงร็อคก็เพราะเราชอบมัน เราชอบมันก็เพราะเราเคยเป็นผู้ฟังมาก่อนและซาบซึ้งถึงเพลงประเภทนั้น เมื่อเรามาเป็นนักดนตรีผู้เล่นเราสามารถทำให้คนอื่นซาบซึ้งหรือมีความสุขไปกับเสียงเพลงที่ออกมาหรือไม่ ผมไม่ได้ตั้งประเด็นให้ดีเบตกันว่าเราควรเลือกขายกาแฟตลาดๆ หรือขายกาแฟแบบพิเศษ หรือขายแบบไหนดีกว่ากัน เพราะคิดว่าเราจะขายอะไรแบบไหนก็เพราะเราชอบมัน แต่แค่อยากจะเชิญชวนว่าไม่ว่าเราจะขายแบบไหนคำถามคือเราทำให้คนที่ดื่มมีความสุขหรือมีอารมณ์ร่วมได้แค่ไหน การทำให้ผู้ดื่มซาบซึ้งกับกาแฟที่เราทำเป็นงานยาก มีความละเอียดอ่อนมาก ศิลปินที่เป็นศิลปินจริงก็เพราะเขามีความสามารถนี้ ไม่ใช่แค่เลือกเพลงยากๆ มาเล่น หรือเล่นด้วยเทคนิคแพรวพราว หรือด้วยเครื่องดนตรีที่ราคาแพงๆ งานศิลปะต้องสื่อถึงอารมณ์
ลองกลับไปเป็นผู้ดื่มทั่วๆ ไปอีกครั้ง เปิดใจให้กว้างๆ ดื่มกาแฟที่หลากหลาย ลองทบทวนดูใหม่ว่าอะไรบ้างที่ทำให้เรารู้สึกดีกับกาแฟถ้วยนั้น และเราจะสามารถเพิ่มเติมอะไรลงไปในกาแฟที่เราทำได้อีกบ้าง
ขอบคุณค่ะ