รายงานการชิมกาแฟดอยสะเก็ด

เย็นวันพฤหัสฯ ที่ 9 เม.ย. มีการปิดถนนกันแล้ว ผมเดินทางเช้าวันที่ 10 เพื่อมาชิมกาแฟที่เชียงใหม่ ทิ้งความวุ่นวายต่างๆ ไว้ที่กรุงเทพฯ กว่าจะถึง Impresso ที่นิมมานเหมินทร์ก็เกือบ 11 โมง คุณบุ๊งมารออยู่แล้ว คุณมด และน้องโขงด้วย พอคุณตู๋ตามมาสมทบการชิมรอบแรกจึงเริ่มขึ้น พวกเราทำความเข้าใจ score sheet ตามแบบ SCAA ที่คุณบุ๊งเตรียมมาให้ ทดลองชิมกาแฟบางตัวเพื่อปรับความเข้าใจในการให้คะแนนให้ตรงกัน จากนั้นจึงเริ่มชิมกาแฟดอยสะเก็ดที่เข้าประกวดเป็นรอบๆ รอบละ 4 ตัวอย่างๆ ละ 5 แก้ว

คุณแน่ปิดร้าน Impresso ให้พวกเราชิมกาแฟกัน ด้วยความที่เป็นร้านแบบ open air และวันนั้นอากาศร้อนมาก เราต้องเดินไปเดินมาจนหน้ามัน มีกลิ่นต่างๆ โชยมาตลอด พวกเราคุยกันค่อนข้างมากประสาคนไม่ค่อยได้เจอกัน สมาธิเลยไม่ค่อยมี

ส่วนตัวผมคิดว่า Score Sheet ที่เราใช้นั้นมีการให้คะแนนที่ค่อนข้างละเอียดหาก cupper มีประสบการณ์สักหน่อย จะสามารถให้คะแนนอย่างมีประสิทธิภาพได้ แต่ด้วยความที่พวกเราหลายคนไม่คุ้นเคย กอรปกับสมาธิไม่ค่อยดี เราเลยใช้วิธี รวมคะแนนและโหวตเลือกเอากาแฟที่คิดว่าดีที่สุดในแต่ละรอบไว้ก่อน แล้วค่อยไปเลือกหาที่ดีที่สุดในรอบสุดท้าย วิธีนี้ทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

การชิมวันแรกผ่านไปอย่างทุลักทุเลเล็กน้อย อาจเพราะเป็นครั้งแรกที่มีการทำงานร่วมกันแบบนี้ การชิมค่อนข้างเป็นจริงเป็นจังเพราะผลที่เราจะรายงานออกไปหมายถึงความน่าเชื่อถือที่เจ้าของสวนต้องการ เมื่อผ่านไป 4 รอบ รวม 16 ตัวอย่างก็เย็นย่ำเราจึงขอพักไว้ก่อนแล้วค่อยมาต่อในวันถัดไป

ในวันที่ 11 เป็นรอบ 2 วันนี้เราเปลี่ยนสถานที่มาเป็นห้องที่มิดชิดติดแอร์เรียบร้อยด้วยความเอื้อเฟื้อจากร้านกาแฟ “ราชดำเนิน” ที่ห่างออกไปจาก Impresso ไม่มาก เมื่อได้นอนหลับพักผ่อนเต็มที่ งดดูข่าว และได้มาอยู่ในห้องแอร์จึงทำให้สมาธิและความสามารถในการดมกลิ่นดีขึ้นมาก วันนี้เราเหลือกาแฟดอยสะเก็ดอีก 16 ตัวแทรกด้วยกาแฟอื่นอีกเล็กน้อย ค่อยๆ ชิมไปแบบสบายๆ เราใช้วิธีที่เมื่อจบรอบๆ ละ 4 ตัวอย่างแล้วให้คุยกันเลย คือเลือกกาแฟตัวแทนในรอบนั้น และคุยกับผู้ปลูกถึงข้อมูลแปลงปลูกของกาแฟแต่ละตัว วิธีนี้เหมือนเป็นสัมมนาเล็กๆ ทั้งระหว่างโรงคั่วกับผู้ปลูก และโรงคั่วกับโรงคั่วด้วยกันเอง ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ต่อกันจนนำไปสู่ผลึกความคิดบางอย่างที่สามารถพัฒนากาแฟได้อย่างเป็นรูปธรรม

เราชิมกาแฟไป 8 รอบ จึงเหลือกาแฟเข้ามาชิงกันในรอบสุดท้าย 8 ตัว พวกเราลงความเห็นคัดออกไป 2  ตัวก่อนด้วยเหตุที่มีข้อบกพร่องชัดเจน จึงเหลือที่คิดว่าเป็นสุดยอด 6 ตัว จากนั้นจึงโหวตกันจนได้ 3 อันดับแรก ที่คะแนนไม่ค่อยเป็นเอกฉันท์นัก

ข้อมูลชื่อเจ้าของสวนที่ได้ลำดับ 1-3 ไม่อยู่ในมือผมตอนนี้นะครับ แต่ถ้าให้พูดถึงลักษณะของกาแฟเท่าที่จำได้คืออย่างน้อยกาแฟที่เหลือ 6 ตัวสุดท้ายนี้ถือว่ามีข้อบกพร่องหรือ defect น้อยมากแล้ว ค่อนข้างสะอาด ตัวที่ชนะเลิศผมได้กลิ่นผลไม้หวาน ซ่อนด้วยกลิ่นสมุนไพร และกลิ่นไม้อ่อนๆ บอดี้ปานกลาง อซิดิตี้ค่อนข้างแน่น แต่มีฝาดเล็กน้อย ถ้าถามว่าโดดเด่นมากมั๊ยก็ตอบว่ายัง และติดที่มีรสฝาดปนเข้ามา หากคิดคะแนนให้ทั้ง 6 ตัวนี้ผมคงให้แค่ 80 กว่าไม่เกิน 86 คะแนนเท่านั้น

เมื่อได้รับทราบข้อมูลแปลงปลูกแล้วได้ข้อคิดว่า การพัฒนาคุณภาพในชั้นแรกเลยคือความตั้งใจในการทำกาแฟ การใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน เพราะจาก 30 ตัวอย่างนี้พบว่ากว่าร้อยละ 20 มีข้อบกพร่องชัดเจนจากกระบวนการที่ขาดความใส่ใจ และตัวอย่างที่เหลือยังพบข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้คุณภาพกาแฟด้อยลงไป จุดนี้ผมถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพเพราะหากยังไม่สามารถทำกาแฟให้สะอาดได้แล้ว การวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ เช่นอายุของต้นกาแฟ พันธุ์กาแฟ สภาพภูมิอากาศ ภูมิศาสตร์ และฯลฯ จะทำได้ยาก 

กิจกรรม Taste of Doi Sa-ked ถือว่าผ่านไปด้วยดีครับ พร้อมๆ ไปกับเหตุการณ์วุ่นวายทั้งที่พัทยาและกรุงเทพฯ ผมบินกลับบ้านเย็นวันที่ 12 รถแท็กซี่วิ่งเข้ามาจากถนนวิภาวดี พบการปิดถนนตรงทางเข้าสามเหลี่ยมดินแดงต้องยูเทิร์นย้อนกลับไปเข้าทางถนนพหลโยธินแทน เช้ามืดวันที่ 13 วันสงกรานต์มีการยิงกันแล้วที่ดินแดง ห่างจากบ้านที่พักผมไปไม่มาก ผมไม่ได้ยินเสียงปืนหรอกครับอาจเพราะเหตุเกิดไกลออกไปและตัวเองหลับลึกด้วยความเหนื่อย ตื่นมาเข้าห้องน้ำตอนฟ้าสางได้ยินเสียงต่อว่าทหารผ่านเครื่องขยายเสียงจากรถผู้ชุมนุมวิ่งผ่านไปทางทำเนียบ เมื่อเปิดข่าวทีวีดูก็คิดว่าวันนี้คงวุ่นวายกันมาก เลยเข้าไปนอนต่อและพยายามตื่นให้สายที่สุด ตอนบ่ายๆ หาอะไรทานแล้วก็เห็นทหารเดินเรียงหน้ากระดานผ่านหน้าบ้านมุ่งไปทางแยกพญาไท และตามด้วยเสียงปืนเป็นระยะ แล้วก็เงียบไป

เหตุการณ์มันใกล้ตัวเสียจริง…

<ดูภาพการชิมกาแฟที่เชียงใหม่เพิ่มเติมได้ที่นี่นะครับ>

You can leave a response, or trackback from your own site.

5 Responses to “รายงานการชิมกาแฟดอยสะเก็ด”

  1. [...] เป็นรีวิวว์ที่ค้างคาไว้หลายวันแล้วครับ ว่ากาแฟไทยแท้จากดอยสะเก็ดเมื่อเอามาทำเอสเปรสโซแบบ single oringin จะเป็นอย่างไร เมื่อจบงานคัปปิ้งที่เชียงใหม่เลยถือเป็นอารมณ์ต่อเนื่องที่จะเอามาชิมเป็นเรื่องเป็นราวซักที [...]

  2. skipper says:

    ดูเป็นทางการมากๆเลยนะครับ หวังว่าจะได้มีโอกาสชิมตัวที่ชนะเลิศที่ว่านั้นด้วย

  3. Boblam says:

    Maybe I miss something but what will happen after this tasting?

  4. vudh says:

    ผมก็ไม่ได้สรุปอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ขออนุญาติตอบคุณ Boblam เป็นภาษาไทยนะครับว่า ครั้งนี้เราได้ทดลองทำงานร่วมกันแง่ของการประเมินคุณภาพกาแฟจากแหล่งปลูก เมื่อการชิมจบลงส่วนตัวผมถือว่าผลการประเมินของพวกเรามีความเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยเราสามารถแยกกาแฟที่มี defect เด่นชัดออกมาได้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลของแปลงปลูกจึงให้ผลในทางสอดคล้องกัน เป็นเครื่องยืนยันว่าสวนไหนที่ตั้งใจทำดีผลการประเมินก็จะเป็นไปในทิศทางที่ดี เรียกว่าทำดีได้ดีเป็นกำลังใจให้ตั้งใจทำดียิ่งๆ ขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็มีข้อความไปถึงสวนที่มีข้อบกพร่องเพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาต่อไป นี่คือประโยชน์ที่เกิดขึ้นทันที(ต้องขอบคุณคุณสุวรรณที่สามารถรวบรวมข้อมูลแปลงปลูกได้ดี)

    ส่วนเรื่องที่ซับซ้อนขึ้นเช่นความสัมพันธ์ของสายพันธุ์ ชัยภูมิของสวน เทคนิคการล้างการหมัก และอื่นๆ นั้น เราคงต้องเก็บข้อมูล และทำการประเมินต่อไป เพื่อให้เกิดความรู้ว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดผลในการพัฒนาคุณภาพ

    และที่คุยกันอีกคือเรื่องการใช้เครื่องจักรที่ได้มาตรฐานในบางกระบวนการที่เราเชื่อว่าน่าจะมีผลเด่นชัด ตอนนี้อยู่ในช่วงการหาข้อมูล การพูดคุยครับ เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันง่ายๆ มีเรื่องงบประมาณ การบริหารจัดการมาเกี่ยวข้อง

    รวมความว่าหลังจากกิจกรรมนี้ประโยชน์บางอย่างได้เกิดขึ้นแล้ว บางอย่างต้องรอจังหวะเวลาให้ลงตัวมากกว่านี้ แต่ถือว่าเราได้ทิศทางมากขึ้นครับ และที่สำคัญผมถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันระหว่างโรงคั่วเล็กๆ ของคนไทย เพื่อทำงานร่วมกันกับแหล่งปลูกในการพัฒนาคุณภาพกาแฟด้วยความเป็นมืออาชีพตามมาตรฐานสากล

  5. Boblam says:

    Thai is more than OK krub.

    I recalled there’s some kind of contest similar to Cup of Excellence a while in Thailand. There should be more of that.

    If there’s no such thing, somebody should start as it helps increase the awareness of the farmer.

Leave a Reply

Powered by WordPress | Designed by: Premium Themes | Best Themes Gallery, Find Free WordPress Themes and Top WordPress Themes