กาแฟอินโดนีเซีย

ผมออกจากกรุงเทพฯ ติดตามพี่ไน้ซ์พีแอนด์เอฟคอฟฟี่ไปในเช้าวันที่ 11 เมษายน วันที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐพาดหัวไม้ใหญ่มากในหน้าหนึ่งว่า “เมษาทมิฬ”  ในใจยังคิดว่าเหมือนหนีเหตุการณ์วุ่นวาย คลายความตึงเครียดในใจ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับใครเขา แต่คงเป็นเพราะมันรับข่าวอยู่ทุกวัน และสถานที่อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ จึงพลอย “ตึง” ไปกับเขาด้วย

เราเดินทางด้วยแอร์เอเซียต้องแวะภูเก็ตก่อนแล้วต่อเครื่องไปเมดานรวมเวลาบินทั้งหมดประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า ถือว่าใกล้มาก

เมดาน เป็นเมืองอันดับ 3 ของอินโดนีเซีย อยู่บนเกาะสุมาตรา ดูแล้วยังเทียบไม่ได้กับเชียงใหม่ของเรา แต่ถือเป็นเมืองเล็กๆ ไปไหนมาไหนถึงกันได้ภายในเวลา 15 นาที มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร มองไปไม่ค่อยเห็นคนชาติตะวันตกมากนัก ในเมืองไม่ค่อยมีสถานที่ท่องเที่ยวอะไรมาก หลายคนมาเมดานเพื่อต่อไปเที่ยวที่ทะเลสาปโทบาที่เขาลือกันว่าสวยงามอย่างสวิสเซอร์แลนด์

แต่เรามาครั้งนี้เพื่อเยี่ยมผู้ส่งออกกาแฟรายสำคัญที่เชี่ยวชาญกาแฟจากสุมาตราโดยเฉพาะ โรงงานแรกที่ไปคือ “คอฟฟินโด” เริ่มจากเดินชมลานตาก โกดังและห้องคัดกาแฟ ได้ชิมกาแฟบางตัวกับคัปเปอร์ของเขาคือ “เฮอรี่” ซึ่งเป็นคิวเกรดเดอร์และสตาร์คัปเปอร์ มีประกาศนียบัตรมากมาย เป็นการทำความเข้าใจกันว่าการชิมของเราเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อใช้ในการสื่อสารกันในการเลือกซื้อกาแฟต่อไปในภายหน้า

คอฟฟินโดในปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ทำตลาดกาแฟคั่ว โกปิลูวัก ในชื่อ “ออริจินัลลูวัก” ที่ไดเร็กเตอร์ของเขาคุยด้วยความภูมิใจว่าเป็น โกปิลูวัก ระดับท็อปควอลิตี้ ติด 1 ใน 3 ของแบรนด์ที่มีอยู่ในขณะนี้ เรื่องราคาไม่ต้องพูดถึง

 

 

โรงงานที่ 2 ที่ได้ไปคือ “พีทีเมนาคอม“ ซึ่งต้อนรับโดยผู้จัดการคือคุณอาแกม (คนกลางในภาพ) ที่นี่ผมรู้สึกชอบเป็นพิเศษเพราะเก่าแก่และผู้บริหารคลุกคลีกับกาแฟจริงจัง คุณอาแกมเล่าให้พวกเราฟังถึงที่มาของกาแฟสุมาตราแมนดีลิ่ง อธิบายแนวทางการผลิตกาแฟของเกาะสุมาตราและเส้นทางกาแฟทั้งหมด ทำให้ผมเข้าใจและได้ความรู้ในกาแฟสุมาตรามากขึ้น

เราชิมกาแฟด้วยกันกับคัปเปอร์ของเขาชื่อ “บุ๊ดดิ” ซึ่งเป็นคิวเกรดเดอร์เช่นกัน ได้ทำความเข้าใจในวิธีการใช้คัปปิ้งเพื่อสนองความต้องการลูกค้าของที่นี่ ซึ่งถือว่าคัปเปอร์ที่นี่มีบทบาทสำคัญมากในการจัดการกาแฟให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

ที่นี่โรงงานจะซื้อเมล็ดกาแฟดิบจากชาวสวนเท่านั้น และนำมาตากต่อ คัดเกรด ผสม บรรจุ แล้วจึงส่งออก

หมายความว่ากระบวนการผลิตนั้นต้องสำเร็จเสร็จสิ้นด้วยมือของชาวสวนเท่านั้น ทำให้คุณภาพของกาแฟที่ได้มีความหลากหลายมาก การคุมคุณภาพของกาแฟสุมาตราจึงต้องคุมด้วยการผสมกาแฟที่ซื้อมาจากชาวสวนรายต่างๆ โดยการใช้การคัปปิ้งเป็นเครื่องมือสำคัญ

กาแฟสุมาตราที่เป็นซิงเกิ้ลออริจิ้น หรือพวกเอสเตทคอฟฟี่นั้น จึงเป็นสิ่งที่หายากและมีราคาแพง

กาแฟดิบที่โรงงานซื้อเข้ามามักมีความชื้นสูงมากบางทีเกือบ 20 เปอร์เซนต์ โรงงานจึงต้องนำมากตากต่อและสามารถขายออกได้ที่ความชื้นประมาณ 13 เปอร์เซนต์ ในภาพคุณอาแกมชวนให้ย่ำไปบนเมล็ดกาแฟที่ตากไว้ เขาบอกว่า “คุณต้องมาเดินบนนี้ จะได้รู้สึกถึงมันได้ กลิ่นอับชื้นเหมือนเหงื่อมันจะคลุ้งขึ้นมา”

 

ครั้งนี้เราไม่ได้ไปถึงสวนกาแฟครับเพราะไม่ได้เตรียมตัวมา สวนที่อยู่ใกล้เมดานที่สุดทราบว่าอยู่ใกล้ทะเลสาปโทบา ถ้านั่งรถไปต้องมี 3-4 ชั่วโมง คุยกับพี่ไน้ซ์แล้วคาดว่าจะนำเข้ากาแฟสุมาตราจากทั้งสองโรงงานนี้ หากต้องรอให้มาตรการต่างๆ ของรัฐฯ ออกมาให้เรียบร้อยก่อน เราหวังกันว่ากาแฟน่าจะเข้ามาได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ ตั้งใจว่าถ้าได้ใช้กาแฟสุมาตราในปีนี้ ช่วงเก็บเกี่ยวฤดูกาลหน้าต้องหาทางไปเยี่ยมสวนกาแฟให้ได้

 แถมท้ายอีกนิด ไปเที่ยวนี้พี่ไน้ซ์หอบหิ้วตัวอย่างกาแฟกลับมา ที่พิเศษคือมีกาแฟลูวัคแท้ๆ จากสุมาตรามาด้วย จึงจัดการเปิดปาร์ตี้สังสรรค์ขายบัตรให้ชิมกันเสียเลย จะได้เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตว่ากาแฟที่แพงและหายากที่สุดในโลก คั่วชิมกันสดๆ ใหม่ๆ มันจะเป็นอย่างไรกัน ท่านที่สนใจติดต่อ พีแอนด์เอฟ โดยตรงนะครับ

You can leave a response, or trackback from your own site.

6 Responses to “กาแฟอินโดนีเซีย”

  1. boblam says:

    ในภาพคุณอาแกมชวนให้***ย่ำไปบนเมล็ดกาแฟที่ตากไว้*** เขาบอกว่า “คุณต้องมาเดินบนนี้ จะได้รู้สึกถึงมันได้ กลิ่นอับชื้นเหมือนเหงื่อมันจะคลุ้งขึ้นมา”

    I doubt whether the guy will take off his shoes! I read somewhere the processing of Indonesian coffee is not quite hygienic and this one further supports that claim.

    Yes, there’s things that I don’t know before the bean comes to the cup but I doubt whether this is the right way to treat the coffee bean. Guess I will avoid Sumatra coffee as much as I could then which works fine for me as I typically like coffee from Central/South America.

  2. skipper says:

    ขอบคุณสำหรับการแบ่งประสบการณ์ดีๆครับ

  3. admin says:

    คุณ bobฯ ครับ สำหรับแมนดีลิ่งนี่เลี่ยงยาก เพราะกระบวนการแบบแมนดีลี่งเขาจะลอกเปลือกแล้วสีกะลาออกเลย ต้องตากเป็นเมล็ดเขียวและความชื้นของเมล็ดจะสูงมาก แม้ขายเข้าโรงงานแล้วความชื้นยังคงสูงมาก โรงงานจึงต้องนำมาตากต่อ ผิดกับการตากกะลาให้แห้งก่อนแล้วค่อยนำมาสี วิธีนี้เมื่อสีเสร็จจึงคัดเกรดแล้วบรรจุลงกระสอบได้เลย กาแฟจึงสะอาดกว่า

    แต่ถึงอย่างนั้น แมนดีลิ่งยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายโดยเฉพาะในเอสเปรสโซเบลนด์ เนื่องจากโทน earthy spicy ของมันที่ช่วยเพิ่มความลึกและมิติในเอสเปรสโซได้

    และอยากเพิ่มเติมอีกนิดว่ากาแฟจากโรงงานระดับนี้จะถูกคุมวิีถีการปฏิบัติตามแบบแผน และมีใบรับรองจากสถาบันต่างๆ มากมาย มีการส่งตัวอย่างกาแฟเพื่อตรวจสอบสารพิษ และเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ ที่น่ากลัวกว่าคือกาแฟที่เมล็ดดูสะอาดแต่ข้างในมี orchratoxin A หรือพวกโลหะหนักที่เรามองไม่เห็น ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพกว่ามาก

  4. boblam says:

    I know that this is a big factory but even the big guy still practices something like that, how about other smaller ones.

  5. BK says:

    พูดถึงเรื่องย่ำๆ บางทีอาจจะดูเปื้อนๆ แต่ถ้าพูดเรื่อง bacteria หรือเชื้อโรคผมคงไม่ห่วงมากเพราะว่า เข้าเตาคั่วก็ฆ่าเชื้อหมดแล้ว : ) และก็เรื่องเชื้อข้างในกับโลหะอย่างที่คุณวุฒิว่า น่ากลัวกว่าแน่ๆ ครับ

  6. ก๊อบแก๊บ says:

    ฉันชอบดื่มกาแฟมาก…เฉพาะกาแฟสด…ชอบลองเสมอ…ตอนนี่ฉันมาฝึกงานที่อินโดเนเซีย
    เกี่ยวกับกาแฟ…มีอะไรจะแนะนำฉันไมค่ะ

Leave a Reply

Powered by WordPress | Designed by: Premium Themes | Best Themes Gallery, Find Free WordPress Themes and Top WordPress Themes