คู่มือดูการแข่งขันชงกาแฟ

เผลอแป๊บเดียว การแข่งขัน GBC Thailand 2010 รอบสุดท้ายก็จะมาถึงในวันอาทิตย์นี้แล้ว ข่าวคราวการแข่งขันมีให้ติดตามสำหรับผู้สนใจทั้งจากเว็บไซต์ของการแข่งขันเอง เวบบอร์ดร้อยตะวัน และ page ใน facebook ล่าสุดเราได้ผู้เข้ารอบสุดท้าย 9 คนโดยไม่มีการแข่งขันรอบคัดเลือกเนื่องจากสมัครกันแค่นี้ ที่สมัครน้อยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัจจุบันมีเวทีแข่งชงกาแฟหลายรายการแล้ว บาริสต้าหลายคนที่เข้าแข่งในเวทีต่างๆ จะทราบดีว่าตัวเองนั้นมีโอกาสในแต่ละเวทีแค่ไหน หากไม่พร้อมจริงๆ หรือไม่มีหวังลุ้นรางวัลจะไม่อยากมาเข้าแข่งให้เสียเวลา GBC Thailand ถือเป็นหนึ่งในสองรายการของประเทศที่ผู้ชนะมีสิทธิ์ไปแข่งต่อในต่างประเทศ ถึงแม้รางวัลที่เป็นเงินสดจะไม่มากแต่ในแง่ของศักดิ์ศรีถือว่าไม่น้อย บาริสต้าหลายคนที่มองเวทีนี้อยู่จึงไม่คิดว่าเป็นเวทีของการซ้อมมือ หากเป็นเวทีที่ต้องการอวดศักยภาพของตัวเอง ถ้าไม่พร้อมไม่มาดีกว่า

และเมื่อมาพิจารณารายชื่อทั้ง 9 รายที่จะแสดงฝีมือในวันอาทิตย์นี้ ส่วนตัวผมถือว่าเป็นบาริสต้าที่มีฝีมือและแรงบันดาลใจสูงทั้งนั้น มีทั้งบาริสต้ารุ่นใหม่และมือเก่าคละกัน บางคนเคยเข้ารอบสุดท้ายในรายการนี้มาแล้ว 1 ใน 9 คนนี้ที่จะได้เป็นตัวแทนประเทศเชื่อได้ว่าจะสามารถสร้างชื่อเสียงได้ไม่ขายหน้าใคร

สำหรับตัวผมเองการแข่งขันชงกาแฟไม่ว่าเวทีไหน สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอคือเป็นเหตุการณ์ทีทำให้คนกาแฟมารวมตัวกัน มิตรภาพ ความรู้ และประสบการณ์กาแฟใหม่ๆ จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ต่อเมื่อติดตามการแข่งมาหลายปี หลายเวที ผมกลับยิ่งเบื่อดู อาจเป็นเพราะชีวิตมันมั่วอยู่กับบาร์กาแฟและการชงกาแฟตลอดเวลาอยู่แล้ว การไปดูคนอื่นชงกาแฟบางทีจึงเหมือนไม่น่าสนใจอะไร แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ทำธุรกิจกาแฟผมยังได้ยินมาว่าเขาก็ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่รู้ว่าเค้าทำอะไรกันบนเวทีนั่น จะตื่นเต้นบ้างเมื่อได้เห็นผู้แข่งขันเทลาเต้อาร์ตเป็นรูปต่างๆ แต่นอกจากนั้น…ดูไม่รู้เรื่อง

ผมจึงพยายามเรียบเรียงดูแบบง่ายๆ ว่าเวลาไปชมการแข่งขันนั้นเราจะสังเกตอะไรได้บ้าง เพื่อให้สนุกและเกิดความรู้ โดยจะยกตัวอย่างเกมของ GBC ที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์นี้เป็นตัวอย่าง

  1. เริ่มจากการเตรียมตัวเลย ก่อนที่แต่ละคนจะแสดงในเวลาของเขา บาริสต้าจะมีเวลาในการจัดโต๊ะหรือสถานีแข่งของตัวเองประมาณ 15 นาที ในเวลา 15 นาทีนี้สำคัญมาก เพราะบาริสต้าต้องปรับเครื่องบด ทดลองทำ shot กาแฟให้ลงตัวที่สุด พร้อมทั้งจัดโต๊ะ วางช้อน วางผ้าเช็ดปาก และอุปกรณ์ต่างๆ ให้เรียบร้อยสวยงาม ถ้าเราไปแอบดูอยู่ข้างเวที เราอาจจะเห็นการวางแผนของแต่ละคนว่าเตรียมกันมาอย่างไร ทำอะไรก่อนหลัง และสามารถใช้เวลา 15 นาทีนี้ได้คุ้มค่าแค่ไหน อุปกรณ์จัดโต๊ะที่เตรียมมาดูสวยงามหรือมีอะไรแปลกใหม่หรือไม่ เมื่อจัดวางเสร็จแล้วยังต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อยด้วย
  2. เวลาแข่งมี 12 นาที เริ่มเมื่อผู้เข้าแข่งให้สัญญาณ เกมจะเริ่มตั้งแต่การกล่าวสวัสดีของผู้แข่งขัน การพูดจา การแสดงออกถึงบุคคลิกต่างๆ โดยเทียบเคียงว่าผู้เข้าแข่งขันกำลังให้บริการกาแฟกับลูกค้าคนสำคัญ เราอยากเห็นบาริสต้าที่มีเสน่ห์ น่ารัก มีอัชฌาศัย สามารถให้ข้อมูลได้บ้างว่าเขากำลังจะทำอะไรให้ดื่ม และมันดีอย่างไร
  3. กาแฟที่ผู้เข้าแข่งขันต้องทำให้กรรมการแต่ละคนดื่มนั้นมีสองรายการคือ กาแฟดำ และกาแฟนม จะเสิร์ฟอะไรก่อนก็ได้ หากเป็นกาแฟดำ โดยมากจะทำเป็นเอสเปรสโซ บาริสต้าจะแสดงให้เห็นถึงเทคนิค และความใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ เช่น การเลือกใช้ถ้วยที่เหมาะสม สวยงาม การอุ่นถ้วยให้มีอุณหภูมิพอเหมาะ เทคนิคการตวงกาแฟให้สม่ำเสมอเท่ากันทุกถ้วยและทำได้รวดเร็ว เทคนิคการแพ็คหรือกดกาแฟให้แน่นเท่ากัน เพื่อให้ระยะเวลาในการปล่อยน้ำผ่านกาแฟออกมาใกล้เคียงกันทุกถ้วย แนวโน้มที่เราได้เห็นมากขึ้นคือบาริสต้านิยมเครื่องบดที่สามารถตั้งปริมาณกาแฟได้ และตวงกาแฟให้ได้แบบอัตโนมัติ นิยมสกัดกาแฟพร้อมกันทั้งสองหัวกรุ๊ปเพื่อให้เวลาในการสกัดใกล้เคียงกันทั้ง 4 ถ้วยที่ต้องเสิร์ฟ ถ้าเราเป็นคนชงกาแฟอยู่แล้วเราอาจสังเกตการไหลของน้ำกาแฟจากจอภาพว่าลักษณะการไหลมันใกล้เคียงกันหรือไม่ ถ้าไม่เหมือนกันก็คาดได้ว่าปริมาณน้ำกาแฟในแต่ละถ้วยนั้นจะไม่เท่ากัน รสชาติต่างกันแน่นอน แม้ว่าบาริสต้าจะกดหยุดน้ำพร้อมกันทั้งสองหัวกรุ๊ป
  4. การให้คะแนนรสชาติ เป็นหน้าที่ของกรรมการรสชาติ ซึ่งโดยทั่วไปท่านจะพิจารณาเป็นส่วนๆ เช่นความกลมกล่อมของรสเปรี้ยวหวานขม ความหอมความเข้มของกลิ่น ความข้นความนุ่มนวลในปาก และรสชาติโดยรวมเมื่อกลืนไปแล้ว ถ้าเรายืนดูอยู่เราจะไม่มีส่วนร่วมใดๆ ในเรื่องนี้ นอกจากสังเกตปฏิกริยาของกรรมการแต่ละคนผ่านสีหน้าและแววตา หากการแข่งขัน GBC ครั้งนี้ผู้จัดแจ้งว่าจะมีการทำกาแฟตัวเดียวกับผู้แข่งขันคนนั้นๆ แจกจ่ายไปในเวลาเดียวกัน ถ้าเราได้ชิมบ้างเราจะเห็นถึงตัวกาแฟแบบคร่าวๆ ว่าเขาเลือกกาแฟแบบไหนมาแข่ง แต่รสชาติที่เราได้นั้นอาจต่างกันกับที่กรรมการได้ เนื่องจากเป็นคนละถ้วย ชงโดยบาริสต้าคนละคนกัน ต้องแบ่งใจไว้บ้าง ถ้าท่านชอบกาแฟของใคร จะแอบให้คะแนนในใจอย่างไรคงไม่มีใครว่า
  5. เมื่อจบกาแฟดำ บาริสต้าจะทำกาแฟนมต่อ คราวนี้เราจะได้เห็นเทคนิคการสตีม และการเทนม เราสังเกตตั้งแต่การตวงนมลงไปในเหยือก การทำ shot กาแฟ เมื่อสตีมแล้วมีวิธีจัดการโฟมนมอย่างไร มีเทคนิคในการแบ่งโฟมอย่างไรเพื่อให้โฟมหนาเท่ากันทุกถ้วย เพราะโดยทั่วไปแล้วการสตีมนมหนึ่งครั้งจะให้พอสำหรับริน 2 ถ้วย อย่างน้อยจะทำอย่างไรให้โฟมในสองถ้วยนี้เท่ากัน และมีความนุ่มนวลใกล้เคียงกัน ถึงตอนรินท่านอาจจะตื่นตาเล็กน้อยหากบาริสต้าสามารถรินเป็นรูปต่างๆ ที่เรียกว่าการเทลาเต้อาร์ต ความท้าทายของเรื่องนี้คือความพยายามเทโฟมที่หนาแต่ให้เกิดลวดลายที่ละเอียด การสร้างสรรค์ลวดลายที่สวยงามแปลกใหม่ ส่วนเรื่องรสชาตินั้น กรรมการจะตรวจสอบตั้งแต่ความนุ่มนวลของโฟมนม กรรมการหลายท่านนิยมใช้หลังช้อนดันโฟมออกไปข้างหน้าเพื่อสำรวจความหนาและความนุ่มของโฟม ถ้าโฟมนุ่มมันควรจะเหลวเหมือนครีม และสำหรับ GBC เขาใช้คำว่ากาแฟนม คือไม่จำกัดว่าต้องเป็น cappuccino เท่านั้น ดังนั้นผู้เข้าแข่งขันสามารถทำโฟมที่บางได้ กรรมการจะให้คะแนนเรื่องของรสชาติของกาแฟในถ้วยประกอบกันไป กาแฟนมที่ดีจะต้องให้ความหวานของนม มีรสกาแฟมากพอ กลมกล่อม มีเนื้อโฟมที่นุ่มนวล และอุณหภูมิที่พอเหมาะ เรื่องเหล่านี้เราดูอย่างเดียวไม่มีให้ชิมครับ
  6. สุดท้ายสำหรับ GBC คือบาริสต้าจะโชว์การรินลาเต้อาร์ตในลายที่เหมือนกัน 4 ถ้วย ด้วยความคิดที่ว่าลาเต้อาร์ตถือเป็นการแสดงออกถึงแรงบันดาลใจและความเป็นมืออาชีพของคนชงกาแฟ เพราะมันต้องเกิดจากฝึกฝนอย่างหนักทั้งการทำ shot กาแฟ การทำโฟมและการเทนม การเทลายที่เหมือนกันเพื่อให้รู้ว่าลายที่เทได้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญแต่สามารถทำซ้ำได้ ลาเต้อาร์ตในปัจจุบันถือเป็นสิ่งที่ยังสามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้คนให้หันมาสนใจกาแฟได้มาก สำหรับการแข่งขันนี้ลาเต้อาร์ตมีไว้โชว์ความสวยงาม ความยากของลาย และความแปลกของภาชนะ โดยที่กรรมการไม่ต้องดื่ม ไม่มีคะแนนรสชาติ

หมดแล้วครับในเวลา 12 นาทีนี้สำหรับผู้เข้าแข่งขันจะผ่านไปเร็วเหลือเชื่อ สำหรับเราคนดูถ้ารู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วแสดงว่าบาริสต้าทำได้ดี ดูสนุก แต่ถ้าคิดว่าเมื่อไหร่จะเสร็จซักทีนี่เท่ากับน่าเบื่อแล้ว อีกส่วนที่อาจทำให้ได้ลุ้นคือการแข่งขันต้องอยู่ในกรอบเวลาซึ่งก็เหมือนชีวิตจริงที่เราไม่สามารถปล่อยให้ลูกค้ารอนานได้ ถ้าทำเกินเวลาจะถูกหักคะแนนหรือปรับแพ้ ดังนั้นการลุ้นให้ทำทันเวลาจึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ดูได้สนุก โดยรวมเท่ากับเป็นการวัดศักยภาพทั้งหมดที่บาริสต้ามีครับ ถ้าเขาทำได้ดีหมายถึงสามารถสร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้ ลูกค้าจะกลับมาดื่มกาแฟของเขาอีก อาจจะดื่มมากขึ้น หรือชวนเพื่อนๆ มาดื่มอีก นี่คือสิ่งที่การแข่งขันชงกาแฟเกือบทุกรายการอยากให้เกิดขึ้น เพราะมันคือการกระตุ้นให้การบริโภคกาแฟสูงขึ้นทั้งอุตสาหกรรมนั่นเอง

หวังว่าจะดูการแข่งขันได้สนุกขึ้นนะครับ

You can leave a response, or trackback from your own site.

4 Responses to “คู่มือดูการแข่งขันชงกาแฟ”

  1. janjapan says:

    ถูกใจใช่เลย:0) ยังกะออกมาจากใจเลยนะคะ เขียนแบบเห็นภาพเลยจ๊ะ เป็นธรรมดาของชีวิตคนเรา ที่ต้องรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆและเบื่อกับสิ่งซ้ำๆจำเจ. แต่โดยส่วนตัวคือได้ดูการแข่งทางเว็ป เลยพอเข้าใจconceptบ้าง และตอนนี้ก็เข้าใจ100%แล้วคะว่า กรรมการเขาดูอะไรบ้าง ตอนที่ดูและวิเคราะห์เอาเอง ลืมนึกถึงข้อ 1 และ 2 คะ. ไม่คิดว่าจะจำกัดเวลาในการเตรียมด้วย ก็เห็นเขาเตรียมเรียบร้อยต้องนานแล้ว แค่พอถึงเวลาที่เข้าstation ตัวเองก็มาดูความเรียบร้อยอีกที แล้วทำไมต้อง12นาที? ขอบคุณคะ สำหรับคู่มือ คิดว่าอาทิตย์อาจจะลองไปดูของจริงหน่อยดีกว่า จากที่เคยแต่ดูในจอ อิอิ ปล.เมื่อไหร่ออกคู่มือการใช้ชีวิตด้วยล่ะค่ะ อิอิ

  2. boblam says:

    Kudo to Khun Vudh on this great post.
    This is really good Khun Vudh should post on GBC webpage.. Much better than HK where there’s no support and they should learn from GBC in Thailand…

  3. witchest says:

    อ่านแล้วมองเห็นภาพเลยค่ะ
    คราวนี้คงเป็นครั้งแรกที่สนุกกับการติดตาม
    และเริ่มรู้ว่า .. เขาทำอะไรกันนะ

Leave a Reply

Powered by WordPress | Designed by: Premium Themes | Best Themes Gallery, Find Free WordPress Themes and Top WordPress Themes