espresso + sugar = EspressO !

เปิดศักราชใหม่ด้วยเรื่องหวานๆ

ผมไม่ใช่แฟนธรรมของท่าน ว. พระหนุ่มผู้โด่งดัง (จริงๆ แล้วชอบฟังธรรมผ่านเจ้าคุณประยุทธ์ฯ มากกว่า) หาก spot โฆษณาเมื่อเร็วๆ นี้ชิ้นหนึ่งที่ประทับใจหลายคนเรื่อง “ใจที่รู้จักพอ” ทำให้คิดเชื่อมโยงมาถึงเรื่องเอสเปรสโซ…ได้อย่างไรก็ไม่รู้


ซีททูคัพทำกาแฟคุณภาพด้วย passion หรือความมุ่งมั่นบางอย่าง แน่นอนว่าเราไม่อยากจะหยุดหรือ “พอ” กับอะไรทั้งนั้น เราอยากจะได้เอสเปรสโซที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป ไม่รู้จบ ไม่รู้เหนื่อย

แต่นั่นมันคืองานของเรา…

สำหรับท่านผู้ดื่มมันอาจจะเป็นคนละเรื่องกัน

อิตาเลี่ยนเอสเปรสโซขายกันบนท้องถนนในอิตาลีราคาไม่ค่อยเกิน 1 ยูโร หมายความว่าถ้าพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนนาทีนี้กาแฟ 1 ถ้วยเขาขายกันไม่ถึง 40 บาทไทย ทั้งๆ ที่เป็นประเทศในยุโรปตะวันตกซึ่งมีค่าครองชีพสูงกว่าบ้านเรามาก มันแสดงให้เห็นว่าอิตาเลี่ยนชนไม่ดื่มกาแฟแพงกัน แม้กาแฟจะถือเป็นแรงขับเคลื่อนของชีวิตและเป็นความภาคภูมิใจของพวกเขา หลายคนดื่มกันวันละหลายๆ ถ้วยตั้งแต่ตื่นลืมตา หลังอาหารเช้า ก่อนและหลังอาหารกลางวัน บ่ายคล้อย ก่อนและหลังอาหารเย็น จนถึงค่ำๆ ยังได้อีกถ้วย ถ้าดื่มตามนี้อย่างน้อยนับได้ 8 ถ้วยเข้าไปแล้ว ราคากาแฟต่อถ้วยจะสูงมากไม่ได้ ต้นทุนของกาแฟจึงไม่ควรสูงตามกันไป กาแฟอิตาเลี่ยนแท้จริงแล้วไม่ได้ใช้กาแฟคุณภาพสูงมากอย่างที่หลายคนคิด

แล้วเอสเปรสโซอิตาเลี่ยนมันยอดเยี่ยมตรงไหน ?

อาจเป็นแค่ทัศนส่วนตัวของผมเท่านั้นที่คิดว่าด้วยความที่เอสเปรสโซถูกทำคลอดด้วยชนอิตาเลี่ยน การประดิษฐ์และพัฒนาเครื่องหรือกระบวนการสกัดกาแฟเอสเปรสโซงอกงามในอิตาลี ประเพณีเอสเปรสโซต่างๆ ก็เช่นกัน ทำให้โรงคั่วอิตาเลี่ยนรู้จักการเลือกเมล็ดกาแฟดิบที่เหมาะสม (ไม่ใช่ดีที่สุด) การเก็บ การคั่ว การผสมสำหรับชงแบบเอสเปรสโซโดยเฉพาะ แม้นเราแยกเอสเปรสโซเป็นแบบไฮเอนด์ หรือแบบหาดื่มได้ตามท้องถนน โรงคั่วอิตาเลี่ยนสามารถผลิตกาแฟคั่วเพื่อเอสเปรสโซระดับสุดยอดได้ไม่แพ้ใคร (และมันก็ไม่ควรแพ้ใครเพราะอิตาเลี่ยนกำหนดมาตรฐานเองตั้งแต่ต้น)

และหากจำเพาะมาที่เอสเปรสโซตามท้องถนน อิตาเลี่ยนเอสเปรสโซยังเป็นที่เชิดหน้าชูตา และความภูมิใจของคนอิตาเลี่ยนทั้งๆ ที่ กาแฟไม่ได้มีคุณภาพสูงสุดยอดอย่างที่หลายคนคิดหรือคาดหวัง

ผมก็มาเชื่อมโยงเอาดื้อๆ กับคำเทศน์ของท่าน ว. ตรงนี้คือ เอสเปรสโซที่ยอดเยี่ยมในบริบทของอิตาเลี่ยนไม่ได้อยู่ที่ว่าต้องใช้เมล็ดกาแฟดิบที่สุดยอดหรือแพงที่สุด ไม่จมปรักจมเลนกับความคิดแนวยิ่งใหญ่ยิ่งดี แต่เรากำลังพูดถึงความสุขที่ผู้ดื่มได้รับ อิตาเลี่ยนเอสเปรสโซเป็นการ integrate หรือแปลเป็นไทยว่าบูรณาการซึ่งก็ต้องแปลไทยเป็นไทยต่อไปอีกว่าเป็นการรวมเอาอีกหลายสิ่งอย่างเข้ามาเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์บางอย่าง โดยตั้งต้นตั้งแต่เมล็ดกาแฟคั่วที่ถูกคั่วและผสมมาอย่างดีเหมาะสม ถูกเก็บบ่มไว้ระยะหนึ่งจนรสชาติพัฒนามาถึงขีดสุด ชงด้วยความรู้ความเข้าใจจากเครื่องมืออุปกรณ์ที่สะอาดและมีประสิทธิภาพเพียงพอ จนมาถึงการเสิร์ฟอย่างทันท่วงที และจังหวะการดื่มที่ถูกท่วงทำนอง

มันจะขาดตกบกพร่องส่วนใดไปไม่ได้ !

และการได้ดื่มเอสเปรสโซที่ดีพอปริมาณราว 25 ml ที่นอนรออยู่ในถ้วยพอร์ซเลนใบเล็กๆ คือผลลัพธ์จากการ integrate สิ่งต่างๆ ทั้งหมดนี้เข้าด้วยกัน

จำเพาะแค่ท่วงทำนองของการดื่มซึ่งถ้วยเอสเปรสโซนั้นอยู่ในมือของผู้ดื่มแต่ละท่านแล้ว เราจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงจังหวะการดมและดื่มที่เหมาะสม นี่คือความละเมียดละไมในการหาความสุขให้กับชีวิตจากถ้วยกาแฟใบเล็กๆ อิตาเลี่ยนเอสเปรสโซมาพร้อมกับครีมาสีเข้มละเอียดเหมือนกำมะหยี่ การหยอดน้ำตาลทรายให้นอนอ้อยอิ่งอยู่บนครีมาชั่วอึดใจแล้วค่อยจมลงไปจึงใช้ช้อนคนตามถือเป็นกิจวัตรสามัญ การคนด้วยช้อนทำให้ครีมาที่หนานั้นกลับบางลงเป็นการเพิ่มเนื้อให้กับน้ำกาแฟ ลดความขมเมื่อริมฝีปากได้สัมผัส รวมถึงลดกลิ่นแก๊สจากตัวครีมพร้อมกับเปิดเผยกลิ่นที่สดใสของกาแฟในถ้วย เอสเปรสโซมักเริ่มทักทายเราด้วยกลิ่นของดอกไม้ผลไม้ ตามติดมาด้วยกลิ่นถั่ว ครีม โทสต์และช้อคโกแล้ต เมื่อทิ้งให้เย็นลงอีกนิดจึงปิดท้ายด้วยกลิ่นของเครื่องเทศและเรซิน ถือเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าเราควรดื่มได้แล้ว การดื่มที่เร็วเกินไปนอกจากจะไม่ได้สัมผัสกลิ่นที่ควรได้ น้ำกาแฟยังอาจร้อนลวกปากและอาจให้รสขมขาดความชุ่มชื่น การดื่มเอสเปรสโซที่ทื้งไว้เย็นเกินไปอาจได้กาแฟเปรี้ยวฝาดยิ่งขึ้น

ที่สำคัญและต้องย้ำอีกทีคือการรู้จักเติมน้ำตาลลงไป

อิตาเลี่ยนไม่เคยรังเกียจน้ำตาล !

สำหรับคนกาแฟบางกลุ่มโดยเฉพาะคนกาแฟแนวหัวก้าวหน้าสมัยใหม่อาจถือว่า “น้ำตาล” เป็นของต้องห้าม เป็นการทำลายความบริสุทธิ์ของกาแฟที่เขารัก แต่สำหรับอิตาเลี่ยนแล้วอาจถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น (ราวกับที่มนุษย์จำเป็นต้องนุ่งผ้า)

เพราะด้วยวัฒนธรรมที่กาแฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นของต่ำติดดินที่ต้องเข้าถึงได้ง่าย ดื่มที่ไหนเมื่อไหร่ใครชงก็ได้ (คือเทียบแล้วหากาแฟดีๆ ดื่มตามท้องถนนได้ง่ายกว่าประเทศอื่นแต่อาจไม่ได้เข้าขั้นดีมากมาย) จึงเป็นความจริงอีกเหมือนกันว่ากาแฟที่ใช้ที่ขายกันราคาต้องไม่แพง เครื่องชงไม่ได้วิเศษพิศดารอะไร แถมคนชงก็ไม่ได้พิถีพิถันมากนักเพราะต้องชงอย่างรวดเร็วและต้องชงเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน น้ำตาลทรายที่ใช้เป็นการเพิ่มความหวานให้กับกาแฟ เพิ่มบอดี้ให้เข้มข้นขึ้น และช่วยลดข้อบกพร่องจากตัวเมล็ดกาแฟทีมักใช้กาแฟดิบคุณภาพไม่สูงรวมถึงกาแฟโรบุสต้าซึ่งมีบอดี้มากแต่ก็มีความขื่นขมมากด้วย นอกจากนี้ความหวานจากน้ำตาลยังช่วยกลบเกลื่อนข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ จากการชงได้ด้วย

เมื่อเราเติมน้ำตาลทรายลงในปริมาณที่พอเหมาะบวกกับจังหวะการดื่มที่ถูกต้อง อิตาเลี่ยนเอสเปรสโซในถ้วยเล็กๆ ราคาไม่แพงยังสามารถสร้างความสุขสุุนทรีย์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ และที่น่าทึ่งกว่าคือเราสามารถย้ำความรู้สึกนี้ได้วันละหลายๆ ครั้ง และอาจในหลายสถานที่

น่าเสียดายที่วัฒนธรรมเอสเปรสโซในเมืองไทยเรายังอยู่ในขั้นดักแด้ จะหาเอสเปรสโซที่พอดื่มได้ตามท้องถนนยังไม่ง่าย คนที่ชอบดื่มเอสเปรสโซต้องมี list ร้านกาแฟอยู่ในใจไว้บ้าง ยิ่งถ้าตั้งแง่รังเกียจน้ำตาลแล้วยิ่งหากาแฟที่ดื่มเปล่าได้ยิ่งยากเพราะกาแฟยิ่งต้องมีคุณภาพสูงและต้องชงด้วยความพิถีพิถันขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังมีอีกหลายร้านที่ทำเอสเปรสโซได้ดีแต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับน้ำตาล บ้างเอาน้ำตาลกรวดน้ำตาลหินมาบริการโดยไม่ทันคิดว่ามันละลายช้ามากในขณะที่การดื่มเอสเปรสโซนั้นเราไม่สามารถรอได้ขนาดนั้น บ้างมีแต่น้ำทรายแดงน้ำตาลอ้อยที่รบกวนทั้งกลิ่นและรสของเอสเปรสโซ

อิตาเลี่ยนเอสเปรสโซเราใช้แค่น้ำตาลทรายขาวธรรมดาๆ เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องง่ายให้กลายเป็นยาก

สมการ espresso + sugar = EspressO เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้  ไม่ใช่ทางพีชคณิตบนกระดานดำ หากจากประสบการณ์ส่วนตัวของท่านเอง

อาจไม่ใช่จากใจที่รู้จักพอ แต่จากการรู้จักละเมียดละไมเฉพาะกาแฟถ้วยที่อยู่ตรงหน้าท่านในขณะนั้น

You can leave a response, or trackback from your own site.

11 Responses to “espresso + sugar = EspressO !”

  1. delifun says:

    ขนลุกครับ .. อ่านแล้วขนลุก

    ก่อนอื่น ขอสวัสดีปีใหม่คุณวุฒิครับ ขอให้คุณวุฒิมีความสุขสมหวังในสิ่งที่ตั้งใจนะครับ และขอให้มีสุขภาพกายและใจแข็งแรงครับ

    หลังปีใหม่นี้ผมอาจจะกลับเมืองไทยช่วง มกรา – กุมพา ตั้งใจว่าจะไปเป็นลูกค้าที่ ซีททูคัพ ครับ ได้ไหมเอ่ย :)

    ถึงตรงที่ว่า ทำไมอ่านแล้วขนลุก ..
    เพราะ ผมเห็นด้วยกับ ข้อคิดที่เชื่อมโยงระหว่างคำสอนของท่าน ว.วชิรเมธี กับ คำว่า integrate ครับ

    เห็นด้วยสุดๆๆๆ ที่ ..เราต้องเข้าใจในเมล็ดกาแฟของเราเอง ว่าความอร่อยที่แท้จริง “อยู่ตรงไหน” และ “ออกมาได้อย่างไร” ไม่จำเป็นเป็นเมล็ดกาแฟที่แพงหรือหายากหลุดโลก ปัจจัยอื่นๆ มีความสำคัญพอๆกัน ความสะอาดของน้ำ ความสะอาดของเครื่องทำกาแฟ การเก็บบ่มหลังเมล็ดหลังการคั่ว ปริมาณของกาแฟที่โดส ความหยาบความละเอียดของการบด เทคนิคต่างๆ

    ขออนุญาตเสริมความคิดเห็นของผมอีกนิดครับ ว่า ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องทำกาแฟแบบแพงมากๆๆๆๆ หรือที่เขาเรียกกันว่า “เครื่องเทพ” ครับ

    ขอแค่ได้ใช้เครื่อง commercial use ที่มีมาตรฐานดีๆ ที่สำคัญคือ เครื่องมัน “เหมาะ” กับ เมล็ดกาแฟของเรา สามารถกลั่นเอาความอร่อยมาได้มากที่สุด ก็พอครับ ไม่จำเป็นต้องแพงมากเกินความจำเป็น

    ทั้งหมดก็มารวมกัน ผสานกันออกมา .. เป็น espresso ที่ดีครับ
    :)

  2. admin says:

    ตกใจคำว่า ขนลุก :)

    แล้วพบกันเร็วๆ นี้ครับ

  3. tutou says:

    ขอบคุณสำหรับบทความสั้นๆที่ให้ความรู้และให้ข้อคิดดีๆแบบนี้ตลอดนะครับพี่วุฒิ ^^

    สวัสดีปีใหม่ครับ!

  4. boblam says:

    >>>แล้วเอสเปรสโซอิตาเลี่ยนมันยอดเยี่ยมตรงไหน ?

    …ทำให้โรงคั่วอิตาเลี่ยนรู้จักการเลือกเมล็ดกาแฟดิบที่เหมาะสม (ไม่ใช่ดีที่สุด) การเก็บ การคั่ว การผสมสำหรับชงแบบเอสเปรสโซโดยเฉพาะ แม้นเราแยกเอสเปรสโซเป็นแบบไฮเอนด์ หรือแบบหาดื่มได้ตามท้องถนน โรงคั่วอิตาเลี่ยนสามารถผลิตกาแฟคั่วเพื่อเอสเปรสโซระดับสุดยอดได้ไม่แพ้ใคร (และมันก็ไม่ควรแพ้ใครเพราะอิตาเลี่ยนกำหนดมาตรฐานเองตั้งแต่ต้น)

    เอสเปรสโซที่ยอดเยี่ยมในบริบทของอิตาเลี่ยนไม่ได้อยู่ที่ว่าต้องใช้เมล็ดกาแฟดิบที่สุดยอดหรือแพงที่สุด ไม่จมปรักจมเลนกับความคิดแนวยิ่งใหญ่ยิ่งดี

    The tone is quite apologetic for Italian coffee. Somehow, this reminds me of the Judgment of Paris (wine) http://en.wikipedia.org/wiki/Paris_wine_tasting

    To me, that’s the beginning of an end of France domination of the wine world and I have the feeling about the coffee from Italy in the same way.

    Try this article by Giorgio Milos, Master Barista for Trieste, Italy-based illycaffe.
    http://www.theatlantic.com/food/archive/2011/01/a-symphony-of-coffee-creating-your-own-house-blend/69281/

    While whatever he wrote makes sense, it’s similar to what Sweetmarias wrote a long while back. It also gives me a feeling of the beginning of the end of Italian domination of the coffee world if you read all his writing.

  5. admin says:

    คำว่า domination ส่วนตัวผมมองในแง่การตลาดเป็นหลัก ซึ่งตัวสินค้าหรือคุณภาพของสินค้าเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ ประกอบกันเพื่อให้สามารถมีอิทธิพลหรือครอบงำตลาดได้ ในแง่นี้ผมเลยมองว่า คนที่ dominate ตลาดกาแฟยุคใหม่น่าจะเป็นสตาร์บัคส์มากกว่าอิตาเลียนเอสเปรสโซเสียอีก แนวโน้มของตลาดกาแฟจากนี้ไปผมยังไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยสำหรับ consumer ชาวไทยคงยังห่างไกลจากการคั่วเองชงเองในบ้าน หรือแม้แต่กลุ่มที่จะ appreciate หรือยอมจ่ายให้กับเอสเปรสโซระดับไฮเอนด์ยังอาจเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ กระจิดริดไปอีกนาน

  6. boblam says:

    We look at things differently, I guess.

    For wine analogy, in the 70s, people sneered if you said wines from any other place in the world except France were good. There’s no way you said that now. It was so strong and inherent the judge themselves never accepts the result until these days. That’s how ingrained the domination of France on the wine world.. Not any more today.

    Back to coffee, in the 90s, nobody will say Starbucks is better than Italian coffee, just a ‘refreshing’ one. At the time, Starbucks uses LM Linea which gave a much better cup with real body than these days. That, to me, is a sort of domination Italian coffee has for the coffee world.

    Now, Italy tries ‘in a big way’ to get back what it believes it owns. Look at various writeups/talks by Illy including Andrea Illy himself and persons working under him like Milos, lecturing the world on how the coffee ‘should be’.

    Following Milos’ articles, there’s lots of evidence that he grew to accept the stage of Italian coffee vs. the world. To make an Italian accept any coffee outside Italy is the same as to make any French in ‘70s accepts there’s more to good wine than only those from France.

    On consumers, I can only say on my point of view. One can ‘procrastinate’ saying “we are not ready yet” forever and the result will be, of course, not ready as nothing has been done. Look at it the other way, as nothing has been done, there’s a huge potential to start introducing good coffee to general public. It won’t be an overnight success but I think the one who makes it will be a part of a history. Typically, the first mover has lots of advantage, even wining the game by himself.

    I think the ‘special blend/blend of the week/guest blend’ is one of the way to go, trying to introduce the good coffee to general public. These ‘status’ blends usually intrigue potential customers; it can be served as general coffee if it did not sell well.

    Also, at the very least, it should start with the barista themselves to be able to talk about coffee he/she uses in detail and know, at minimum, their coffee like powerusers know how to navigate their computers. It’s not that hard. The one that came to my mind in Bangkok is Khun Po of El Mello. The hardest thing is to get people to be serious enough to start doing it, ie any step is a good step toward success.

  7. vudh says:

    อาจเป็นการมองต่างมุมนะครับ

    ผมมองว่าข้อเขียนของ Milos นั้นเขาไม่ได้ยอมรับอะไรเลยนะครับ เขาแค่เล่าให้ฟังว่าแนวคิดในการเบลนด์กาแฟแบบอิตาเลี่ยนนั้นเขาทำกันอย่างไร ซึ่งโรงคั่วที่เริ่มหัดเบลนด์กาแฟส่วนใหญ่รวมถึงแนวคิดในการเบลนด์กาแฟของซีททูคัพเองก็ใช้แนวทางเดียวกันนี้ ผมเรียกว่าเป็นแบบคลาสิคอิตาเลี่ยนเอสเปรสโซ เบลนด์เพื่อดื่มเป็นเอสเปรสโซเป็นหลัก

    ที่ไม่คลาสิคจึงพบในโรงคั่วหัวก้าวหน้าที่เล่นกับกาแฟมากขึ้น เช่นทำ single origin espresso บางคนใช้กาแฟแบบ washed อย่างเดียว บางคนใช้กาแฟจากทวีปเดียว หลายคนใช้กาแฟจากแปลงเฉพาะทีเรียก micro lot และ ฯลฯ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับเทคนิคการชงและเทคโนโลยีของเครื่องเอสเปรสโซประกอบกันไป เอสเปรสโซจากโรงคั่วพวกนี้จะมหัศจรรย์ขึ้นไปอีก แต่ถ้าเอาไปให้พวกอิตาเลี่ยนดื่ม เขาอาจจะหันมาถามว่า..นี่มันอะไร ?

    แต่ถ้าพูดแค่ว่า good coffee อันนี้อาจไม่สำคัญว่าเป็นสไตล์ไหนขอให้มันมีคุณภาพที่ดี จะดื่มเป็นเอสเปรสโซหรือเป็นเมนูนมก็ได้ ผมเชื่อว่าร้านกาแฟที่มีความมุ่งมั่นพยายามนำเสนอสิ่งที่ดีกว่าให้ลูกค้าอยู่แล้ว และกลุ่มลูกค้าที่มองหาคุณภาพก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นอยู่แล้ว ในแง่การรณรงค์มันอาจจะเป็นคนละเรื่องกันเลยกับการรณรงค์ให้คนดื่มเอสเปรสโซ หรือแม้แต่กาแฟดำ อย่างที่เราทราบกันดีว่า good coffee ของกาแฟนม กับ good coffee ของกาแฟดำหรือแม้แต่กาแฟดำร้อนกับเอสเปรสโซเองมุมมองในแง่ของ quality มันแตกต่างกัน และความพยายามโน้มน้าวให้คนหันมาดื่มกาแฟดำนั้นยิ่งยากกว่า

    ผมเห็นด้วยกับคุณบ็อบว่าเราต้องกล้านำเสนอ และบาริสต้าที่อยู่บาร์ต้องทำหน้าที่อย่างแข็งขัน แต่ความจริงบางทีมันก็ทำให้ท้อได้ เคยคุยกับคุณโป๊ะ el mello เหมือนกันจึงทำให้ทราบว่าจนถึงทุกวันนี้ยอดขายเอสเปรสโซยังถือว่าน้อยมาก ถ้าเป็นอย่างนี้หมายความว่ากาแฟที่เราใช้จำเป็นต้องนำมาทำเมนูนมให้ได้ดีก่อน ส่วนจะเป็นเอสเปรสโซที่ดีหรือไม่ค่อยว่ากันทีหลัง

    ข้อเขียนของผมข้างบนนี้จึงเป็นแค่ความคิดเล็กๆ ที่อาจทำให้คนกล้าดื่มหรือสามารถดื่มเอสเปรสโซตามสถานที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ผมขอแค่ให้หันมาดื่มเอสเปรสโซก่อนส่วนเรื่องความเข้าใจในแง่ quality ของกาแฟจริงๆ ผมเชื่อว่าผู้ดื่มจะค่อยๆ เรียนรู้และเปรียบเทียบได้เอง

  8. skipper says:

    เอสเปรสโซในเมืองไทยเรายังอยู่ในขั้นดักแด้ << อันนี้โดนครับ

    แต่ถ้าอากาศเย็นๆแบบนี้ทั้งปีอาจจะมีพัฒนาไปเร็วขึ้น

  9. boblam says:

    >>>”เอสเปรสโซในเมืองไทยเรายังอยู่ในขั้นดักแด้”

    One thing I noticed is that espresso in Thailand seemed to be very long and there’s a tendency to keep it that way even though barista knows shorter tastes better. Compare with Hong Kong, US and Canada, espresso in Thailand is the longest one I had, on average. The claim is usually the “Italian” standard or the “all inclusive broad range of taste”. To me, whatever make it taste good is the best. The long short may survive well in the milk but as a pure espresso it’s not what I like. Even shorter shot make the milk drink tastes much better. To me, that’s the first step.

  10. วิทยา says:

    ดีครับดี เป็นการเริ่มต้นสำหรับคนที่เริ่มดื่ม เอสเปรสโซด้วย

  11. sabu says:

    เห็นด้วยกับคุณวุฒิอย่างยิ่งเลยครับ espresso ไม่เคยรังเกียจน้ำตาล ผมเจอกับตัวเองมานานแล้วครับ ยอมรับว่าอึดอัดพอสมควรกับโรงคั่วหัวก้าวหน้าทั้งหลาย เวลาผมสั่ง espresso หรือ เมนูร้อนอื่นๆ พวกท่านๆทั้งหลายทำเหมือนผมเป็นตัวประหลาดครับ บ้างก็บอกว่า “มันหวานอยู่แล้วนะ” “ใส่น้ำตาลด้วยเหรอครับ” จนผมเองหลายต่อหลายครับ ออกอาการอายที่จะเติมน้ำตาลลงบนเครื่องดื่มที่เสียสตางค์ซื้อมาดื่มครับ…….

Leave a Reply

Powered by WordPress | Designed by: Premium Themes | Best Themes Gallery, Find Free WordPress Themes and Top WordPress Themes