กาแฟไทย..ระดับโลก ! !

โปรยหัวแบบเรียกร้องความสนใจนิดนึงครับ คือเวลาที่ได้ยินคำว่าระดับโลกหรือ world class ก็งงๆ แต่ก็ตื่นเต้นดี ที่งงเพราะว่าไม่ค่อยมั่นใจคำจำกัดความเท่าไหร่ว่าจะหมายถึงอะไรกันแน่ แต่ถ้านึกถึง “ข้าวไทย” อันนี้เขาว่ากันว่า “ระดับโลก”  เพราะของเราคุณภาพดีมาก มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีของชาวโลก มีการส่งออกไปขายทั่วโลก ถ้าเอ่ยชื่อคุณบัณฑิต อึ้งรังษี เราก็ว่าเขาเป็นไวทยากรณ์ระดับโลก เพราะมีความสามารถมีผลงานเป็นที่ยอมรับของวงการดนตรีคลาสิคโลก

แล้วกาแฟล่ะครับ…ระดับโลก มันต้องเป็นอย่างไร คงไม่ได้อธิบายกันง่ายๆ แต่คำถามที่น่าสนใจมากกว่า หรือเป็นคำถามที่แฝงมาด้วยกันคือแล้วกาแฟไทยเรา..มันระดับไหนกันนะ?

ถ้านำคำถามนี้ไปถามคนที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ เราอาจได้คำตอบที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ล่ะคน.. ส่วนตัวผมเองก็เช่นกันคือไม่มีข้อเท็จจริงล้วนๆ มีแต่ข้อมูลที่ปนด้วยความเห็น จะนำไปอ้างอิงอะไรมากไม่ได้

ความเข้าใจของผมคือ

  • ชาวโลกถ้าจะรู้จักกาแฟไทย น่าจะรู้จักในฐานะผู้ผลิตกาแฟโรบัสต้ามากกว่า ตัวเลขที่ผมเคยได้ยินคือเราผลิตโรบัสต้าได้ 5-8 หมื่นตัน ในขณะที่อราบิก้ารวมแล้วยังไม่ถึงหมื่นตัน ถ้าคำว่าระดับโลกต้องมีปริมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง เราคงเทียบกับผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิลหรือเวียตนามไม่ได้เลย เพราะผลผลิตของเขาเป็นหลักล้านตันขึ้นไป
  • กาแฟไทยคุณภาพดีเป็นกาแฟอราบิก้าที่ปลูกในแถบภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอราบิก้าพันธุ์ลูกผสมที่เรียกว่า “คาร์ติมอร์” ซึ่งต้านทานโรคและให้ผลผลิตดีแต่คุณภาพของรสชาติไม่สูงนัก ผลผลิตรวมที่ไม่ถึงหนึ่งหมื่นตันนี้มีจำนวนเพียงไม่มากนักที่ผลิตด้วยความพิถีพิถันตามแบบ specialty coffee ตัวที่มีการทำการตลาดอย่างจริงจังในนาทีนี้คงมีแต่ กาแฟดอยช้างจากบริษัทกาแฟดอยช้าง และกาแฟอมก๋อยเอสเตท จากบริษัทกาแฟวีพีพี
  • ถ้าคำว่าระดับโลกหมายถึงคุณภาพ ผมทราบว่าทั้งกาแฟดอยช้าง และอมก๋อยเอสเตท ได้ถูกส่งออกไปเพื่อรับการประเมินจากองค์กรต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ผลการประเมินถือว่ากาแฟทั้งสองตัวนี้มีคุณภาพสูงและมีคุณลักษณะอันโดดเด่นของตัวเอง จนอาจถือว่าเป็นกาแฟระดับ specialty ของไทยได้แล้ว ในความหมายนี้ถ้าจะบอกว่ากาแฟไทยระดับโลกแล้วนะ ผมว่าก็ไม่ผิดอะไร

แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจมากขึ้นไปอีกคือ กาแฟมีความหลากหลายและมีกระบวนการต่อเนื่องออกไปอีกกว่าที่จะถึงผู้บริโภค กาแฟไม่เหมือนกับ “ข้าว” ที่จะบอกว่าถ้าพูดถึงข้าว ต้องเป็นข้าวไทยเท่านั้น แต่ถ้าพูดถึงกาแฟ เราสามารถเลือกได้มากกว่า เราสามารถมีความสุขกับกาแฟที่หลากหลายได้มากกว่า กาแฟโคลอมเบียให้ความหวานให้ความสมดุลย์ ในขณะที่กาแฟจากสุมาตราให้กลิ่นเครื่องเทศ ดิน ช็อคโกแล้ต ให้น้ำหนักในปากดี และกาแฟจากเขตฮาราในเอธิโอเปียให้กลิ่นบ๊วย หรือบลูเบอรี่ นี่คือความมหัศจรรย์ของความหลายหลากในโลกกาแฟ

ท่านจะดื่มกาแฟตัวเดียวไปทั้งชีวิตนั้นไม่ผิดอะไรหรอกครับ แค่น่าเสียดายนิดหน่อยเท่านั้น

นอกจากนี้กาแฟยังมิได้จบลงที่แหล่งปลูก ขั้นตอนการคั่วและการชงยังทำให้รสชาติเกิดความหลากหลายขึ้นไปอีก โดยเฉพาะถ้าพูดถึงการชงกาแฟแบบเอสเปรสโซซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เรายังต้องมีเทคนิคในการคั่วและการผสมกาแฟที่ซับซ้อนเพื่อให้ได้รสชาติแปลกใหม่ตามที่ต้องการ ในกรณีนี้โรงคั่วยังถือว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

แล้วโรงคั่วไทยล่ะครับ..ระดับไหนกันแล้ว ?

ในเมืองไทยเรามีโรงคั่วทุกขนาด และเทคโนโลยีที่ใช้ก็มีทุกระดับ กาแฟคั่วแล้วส่วนใหญ่ถูกใช้บริโภคในประเทศเป็นหลัก การจะบอกว่าโรงคั่วไทยใดเป็นโรงคั่วระดับ world class จึงพูดได้ลำบาก ถ้าพูดถึงซีททูคัพ เราเป็นระดับ garage roaster คือเล็กกระจิ๊ดริด เทคโนโลยีที่ใช้เป็นแบบดั้งเดิมเน้นใช้ฝีมือในการคั่ว กาแฟที่คั่วออกไปส่วนใหญ่ให้คนไทยหรือฝรั่งในเมืองไทยได้ดื่มกันครับ ถ้าเรียก “ระดับโลก” จะกลายเป็นเรื่องตลก แต่จากการได้ชิมกาแฟที่คั่วจากโรงคั่วชั้นนำในต่างประเทศมาบ้าง เมื่อได้เทียบกับกาแฟบางเบลนด์ที่เราทำ ผมถือว่าคุณภาพไม่ได้ต่างกันมากมาย อันนี้พูดเอาเองนะครับ ไม่ได้มีใครมารับรองให้

โรงคั่วเล็กๆ ที่เป็นเพื่อนๆ กันรู้จักกันดี ที่พยายามทำกาแฟแบบไฮเอนด์ โดยมีการใช้กาแฟจากแหล่งปลูกต่างๆ ทั่วโลกนั้นจำนวนนับนิ้วได้ เอ่ยชื่อได้เช่นโรงคั่วพีเบอรี่บีนส์ ของคุณชาตรี บางกอกเอสเปรสโซแล็ปของคุณบุ๊ง มิสเตอร์ลีของพี่ดม หรือพีแอนด์เอฟของพี่ไน้ซ์ เท่าที่ได้เคยชิมกาแฟจากโรงคั่วเหล่านี้ผมถือว่าเป็นกาแฟคุณภาพสูงแล้ว จะเหลือก็แต่วันเวลา การสั่งสมประสบการณ์อีกนิด และตลาดรองรับที่ใหญ่กว่านี้อีกหน่อย เชื่อได้ว่าโรงคั่วไทยจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับนานาชาติ

และล่าสุดที่อยากช่วยประชาสัมพันธ์ ถือเป็นก้าวเล็กๆ และแรงบันดาลใจที่สำคัญสำหรับโรงคั่วไทยด้วยกันคือ ผลการรีวิวกาแฟ จาก coffeereview.com โดยเคนเน็ท เดวิด บนกาแฟ Splendid Espresso ที่ส่งไปจาก P&F Coffee นั้นได้คะแนนระดับ outstanding นับเป็นกาแฟเอสเปรสโซเบลนด์จากโรงคั่วไทยตัวแรก (รีวิวในแบบเอสเปรสโซ)ที่ทำคะแนนได้สูงขนาดนี้ อาจถือเป็นคำตอบสั้นๆ ได้ว่าโรงคั่วไทยนั้นระดับไหนกันแล้ว ผลการรีวิวคลิก 

แน่นอนที่อาจมีคำถามต่อเนื่องว่า coffeereview โดยเคนเน็ท เดวิดนี้มีความเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน เท่าที่ความรู้ของผมมีผมยังไม่เห็นองค์กรใดที่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ในการประเมินกาแฟ coffeereview.com และตัวเคน เดวิดถือเป็นองค์กรเอกชนที่มีชื่อเสียงพอสมควร แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับระบบการให้คะแนนนี้ กาแฟที่ได้ 90 แต้ม หมายถึงดีกว่ากาแฟที่ได้ 89 แต้มจริงหรือ ? หรือที่แท้แล้วหมายถึงอะไร ยังมีโรงคั่วใหญ่เล็กทั่วโลกอีกมากมายที่ไม่ได้สนใจส่งกาแฟไปในที่ต่างๆ เพื่อให้คนอื่นประเมินหรือให้คะแนน โรงคั่วหลายรายมีความภูมิใจในตัวเองมากกว่าที่เอากาแฟไปให้คนอื่นตัดสิน

ผมได้ถามพี่ไน้ซ์พีแอนด์เอฟเหมือนกันครับว่าทำไมต้องส่งกาแฟไป เสียเงินเสียทองมากมาย

คำตอบที่ได้กลับมาคือ.. “ก็คนไทยไม่ค่อยเชื่อคนไทยด้วยกันเอง”

สำหรับท่านที่อยากชิมกาแฟตัวนี้ติดต่อที่ กาแฟพีแอนด์เอฟ นะครับ หรือรอชิมภายในงาน ThaiFex 2009  ที่กำลังจะถึงในวันที่ 13-17 พ.ค. นี้ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี

You can leave a response, or trackback from your own site.

14 Responses to “กาแฟไทย..ระดับโลก ! !”

  1. skipper says:

    อ่านท่อนแรกแล้วนึกถึงโฆษณา
    “ข้าวไทยดีๆ ไปนอกหมด”

    ยังไงก็สนับสนุนกาแฟไทยเสมอครับ

  2. บุ๊ง says:

    ก็ขอแสดงความยินดีอย่างเป็นทางการกะคุณวุฒิกะพี่ไนซ์ตรงนี้เลยนะครับ ได้ชิมแล้ว รสชาติดีมากๆ ครับ

  3. [...] ขอแสดงความยินดีกับเพื่อนร่วมวงการกาแฟโรงคั่วเล็กครับ นั่นคือ P&F Coffee ที่ส่งกาแฟเบลนด์ Splendid (ไม่รู้เวอร์ชั่นที่เท่าไหร่แล้ว) ไปให้ coffeereview.com ทดสอบ กาแฟตัวนี้คั่วโดยคุณวุฒิพร เบลนด์โดยคุณศิรฎา ถ้าต้องการอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมก็คลิกไปที่บล็อกของคุณวุฒิได้เลยครับ [...]

  4. admin says:

    ขอบคุณครับคุณบุ๊ง

    แต่ผมคงไม่กล้ารับเครดิตเรื่องนี้ เพราะคั่วตามคำสั่งเท่านั้น ไม่ค่อยได้ออกความคิดอะไรกับเขาเลย

  5. alienboon says:

    เป็นกำลังใจให้กาแฟที่คั่วโดยคนไทย ชอบของทั้งสามสี่ที่เลย ยังไม่เคยชิมของมิสเตอร์ลีเลย ไว้ต้องลองบ้าง

  6. ครอบครัวดอยช้าง says:

    ขอแสดงความยินดีกับคุณวุฒิ และคุณไนซ์ ที่ส่งกาแฟที่คั่วและเบลนด์ โดยฝีมือคนไทยไปทดสอบที่ coffeereview และได้รับคะแนนใน
    ระดับ outstanding ซึ่งได้แสดงให้ชาวต่างชาติ และคนในวงการกาแฟทราบว่าคนไทยก็มีความรู้และความสามารถไม่แพ้ชาติใด นอกจากนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนในวงการกาแฟในบ้านเราได้มีการพัฒนาฝีมือยิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนในวงการกาแฟ และผู้บริโภคในบ้านเรา
    ด้วยความจริงใจและภูมิใจ

    กาแฟดอยช้าง

  7. แฟนพันธุ์แท้จังหวัดตาก says:

    ข้อความนี้ไม่เกี่ยวกับกาแฟ แค่คิดถึงน้องสา

  8. อ่า says:

    ยินดีด้วยนะครับ

  9. อิทธิฤทธิ์ says:

    ตื่นเต้นไปด้วยเลยครับคุณวุฒิ

    แล้ววันงานที่มีสัมนานี่ต้องลงชื่อจองไหมครับ

    เห็นตารางบรรยายแล้วไปแน่นอนทั้ง 3 วันเลยครับ

    รวมสุดยอดของวงการกาแฟไทยเลยครับ

  10. admin says:

    ต้องขออนุญาติส่งต่อความยินดีของทุกท่านไปยังพี่ไนซ์ที่ P&F Coffee นะครับ เพราะเธอเป็นคนเลือกกาแฟ และคิดรสชาติเองทั้งหมด ผมแค่คั่วตามคำสั่ง ไม่ได้ดั่งใจท่าน ผมก็กลับไปคั่วใหม่ แก้ไปเรื่อยๆ จำได้ว่าทิ้งกาแฟไปเยอะมาก แต่ก็ทำให้ผมได้รับความรู้และสนุกไปด้วย โดยเฉพาะเรื่อง packing และการเก็บกาแฟหลังคั่วซึ่งพบว่ามีผลกับรสชาติกาแฟมากทั้งที่เคยมองข้ามเรื่องนี้มาก่อน ยิ่งต้องส่งไปต่างประเทศโดยทางเครื่องบินยิ่งมีผลกระทบต่อกาแฟ ดังนั้นเทคนิคในการ pack และจังหวะเวลาที่จะส่งไปจึงต้องคิดกันค่อนข้างละเอียด

    ส่วนตัวผมเองต้องยอมรับว่าแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งนั้นมาจาก “กาแฟดอยช้าง” โดยพี่วิชานี่ล่ะครับ จำได้ว่าสมัยที่ผมเริ่มทำกาแฟตั้งแต่ยังไม่รู้เลยว่า Specialty coffee หมายถึงอะไร ตอนนั้นพี่วิชาก็เพิ่งเริ่มทำกาแฟได้ไม่นาน แต่พี่วิชาทำแบบใส่เต็มๆ ทุ่มเทสุดๆ เรียกว่าทำอะไรก็ให้มันสุดไปเลย (ถ้าได้เห็นกองหนังสือเกี่ยวกับกาแฟที่พี่วิชาสะสมไว้ก็จะเข้าใจ) เลยทำให้กาแฟดอยช้างประสบความสำเร็จรวดเร็วอย่างที่เห็นทุกวันนี้ ต้องขอขอบคุณในแรงบันดาลใจ กำลังใจ และที่ยังระลึกถึงกันอยู่นะครับ

  11. BK says:

    ได้ฟังเรื่องนี้ แล้วรู้สึกดีใจที่กาแฟไทย(รวมไปถึงโรงคั่วด้วย) มีความจริงจังที่จะพัฒนาในเรื่องของคุณภาพ จริงๆ ไม่ทราบคุณวุฒิจะประจำอยู่ที่ร้านรึเปล่าครับ

  12. ัyai says:

    จากใจจริงค่ะ..
    อยากให้คนไทยสนับสนุนคนไทย
    อย่าไปเห่อกาแฟนอกมาก
    กาแฟไทยดีดีมีเยอะแยะ

    รู้สึกภูมิใจหลังจากอ่านบทความนี้ค่ะ

  13. [...] เคยคุยให้ฟังไปบ้างแล้วครับว่ากาแฟไทยเดี๋ยวนี้เขาไปถึงไหนกันแล้ว แต่ถ้าพูดถึงบาริสต้าไทย บางคนยังอดสงสัยไม่ได้ว่าประเทศอย่างเราที่ดื่มกาแฟกันเหมือนขนม และรู้จักเอสเปรสโซมาแค่สิบกว่าปี บาริสต้ารุ่นบุกเบิกฝึกฝนตัวเองแบบครูพักลักจำกันเป็นส่วนใหญ่ ถึงวันนี้จะพัฒนาไปได้กี่มากน้อย [...]

  14. [...] สำหรับคนที่สงสัยว่ากาแฟไทยในวงการกาแฟโลกมีฐานะอย่างไรนั้น ผมได้เคยเล่าให้ฟังไปนานแล้ว จนวันนี้สวนกาแฟลีซูมีการเปิดตัวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการร่วมเป็นสปอนเซอร์ในการแข่งขันจีบีซีที่ผ่านมา ได้สร้างความประหลาดใจและคำถามให้กับหลายคนทั้งในวงการและบุคคลที่สนใจกาแฟทั่วไป [...]

Leave a Reply

Powered by WordPress | Designed by: Premium Themes | Best Themes Gallery, Find Free WordPress Themes and Top WordPress Themes